เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 ธันวาคม “สยามรัฐ”ขอยกเอาปาฐภถาพิเศษ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เผยแพร่ทางhttps://www.healthstation.in.th วันที่ 10 เมษายน 2560 มีใจความโดยสรุปดังนี้
“ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างไม่รู้ตัว การเตรียมการรองรับจึงไม่ค่อยมีความสมบูรณ์นัก การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่า ต้องเริ่มจากที่ตัวผู้สูงอายุเอง ต้องดูแลทั้งกายและจิต ซึ่งปัจจุบันคนเรามักดูแลแต่ร่างกาย เอาร่างกายไปพักผ่อน แต่ไม่ดูแลจิตใจ จึงต้องดูแลทั้งกายและจิต ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทศพิธราชธรรม ตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการดูแลร่างกาย ซึ่งต้องใช้สติและการพิจารณามองสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญาว่า จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตหรือไม่ เช่น การกินต้องมีความพอดี อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อะไรที่เกินความจำเป็น รวมถึงไม่ยึดติดกับสิ่งของ เลิกผูกพันของที่จับต้องได้ เอาแค่พอเพียงต่อชีวิตความเป็นอยู่ เพราะส่วนเกินต่างๆ ล้วนเป็นของที่ไม่ได้ใช้ เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท
ส่วนเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ คือจิตต้องโปร่งใส อย่าสร้างความมืดมัวให้ตัวเอง โดยขอให้ยึดตามหลักทศพิธราชธรรม ที่ประกอบด้วย ทาน ศีล ปริจาคะ อาชวะ มัททวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ และ อวิโรธนะ เพราะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวเราสร้างเองทั้งนั้น ทั้งโกรธ เกลียด ความอยาก เช่น กรณีถูกเรียกว่าป๋าแล้วไปตบหน้าบ๋อย ซึ่งเมื่อมีความโกรธก็ทำให้ทุกอย่างดีๆ ที่เคยสะสมมาหายไปหมด ดังนั้น เมื่อเราสร้างขึ้นมาเองก็ต้องรักษาเอง สะกดจิตตัวเอง สลัดทุกอย่างที่ไร้สาระ เพราะเวลาที่อยู่บนโลกนี้สั้นลง ก็อย่าเสียเวลาไปคิด ยิ้มให้คนต่างๆ จะดีกว่า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรหาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เช่น เรื่องของทาน กับปริจาคะ คือ การให้ และการเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม เช่น บริจาค 5 - 10 บาท แต่ช่วยให้ได้โรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้น โรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น เป็นต้น เหมือนที่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสกับตน เมื่อครั้งที่ตนอายุ 72 ปี แล้วกราบพระบาทขอพระราชทานพร ซึ่งพระองค์มีพระราชดำรัส ว่า ให้มีร่างกายแข็งแรงนะ เพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ก็จะทำให้เป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณค่า ที่สำคัญอีกประการที่ควรยึดไว้ คือ “อวิโรธนะ” คือ การดำรงอยู่ในความถูกต้องเสมอ หรืออยู่ในธรรม ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ต้องดีและถูกต้อง เพราะบางอย่างดีแต่ไม่ถูกต้อง บางอย่างถูกต้องแต่ไม่ดี เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุไม่ควรหยุดทำงาน เพราะเมื่อไรที่หยุดทำงาน ร่างกายก็จะหยุดตาม เพราะร่างกายจะนึกว่าไม่ใช้แล้ว แต่เพียงแค่อย่าประมาทเท่านั้น ซึ่งการที่ตนยังสุขภาพแข็งแรงทุกวันนี้ก็เพราะยังทำงานอยู่ ซึ่งเมื่อครั้งตอนอายุ 60 ปี ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเรื่องเกษียณ พระองค์ก็ทรงดุว่าเกษียณหรือ หยุดหรือ ซึ่งพระองค์มีพระชนมพรรษา 72 พรรษาแล้ว ก็ยังทรงงาน นับจากนั้นตนก็ไม่มีคำว่าเกษียณหลุดออกมาอีกเลย ก็ทำงาน 7 วันไม่มีวันหยุด ทำงานเหมือนกันหมดทุกวัน ไม่มีวันเสาร์ อาทิตย์ ไม่มีวันเกิด แต่หากร่างกายไม่ไหวเมื่อไรร่างกายก็จะบอกเองแล้วค่อยเข้าโรงซ่อม
ซึ่งเมื่อครั้งอายุ 72 ปี ตนก็ขอพระราชทานพร พระองค์ก็ทรงนำพระหัตถ์มาเขย่าที่ไหล่แล้วมีพระราชดำรัส ว่า “สุเมธงานยังไม่เสร็จนะ” 3 หน ซึ่งพรสุดท้ายของพระองค์ก็ยังทรงกำชับว่างานยังไม่เสร็จ ถือเป็นคำสั่งสุดท้ายที่พระองค์พระราชทาน ดังนั้น การหยุดงานไปพักผ่อนจึงไม่มีอยู่ในสมอง ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงไม่ควรหยุดงาน และควรมีอารมณ์ขันตลอดเวลา ซึ่งพระองค์เคยรับสั่งว่า หากทำงานไม่สนุกก็จะเบื่อ จึงต้องสนุกตลอดเวลา โดยยึดหลัก “ร่าเริง รื่นเริง คึกคัก ครึกครื้น” คือ ตัวเราต้องร่าเริง และเมื่อเข้าไปที่ไหนก็จะทำให้บรรยากาศรื่นเริงขึ้นด้วย ก็จะส่งผลให้เกิดคึกคักและครึกครื้น