ทวี สุรฤทธิกุล

การช่วงชิงอำนาจรัฐต้องเข้าใจก่อนว่าในชาตินั้น ๆ “อะไร” คือ “แกนอำนาจของชาติ”

คนที่เกิดมาในช่วงหลังกึ่งพุทธกาล (ตั้งแค่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา) จะเติบโตมาในท่ามกลางการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการทหาร โดยมีกลุ่มปัญญาชนในมหาวิทยาลัยเป็นผู้นำการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตย ที่เริ่มการต่อสู้ด้วยการประท้วงผลการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก ด้วยกลโกงมากมายในฝ่ายรัฐบาล อันนำมาสู่การทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน จากนั้นประเทศไทยก็ปกครองโดยทหารมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เริ่มผ่อนปรนให้มีรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2511 และมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2512 สถานการณ์การต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่จะล้มล้างเผด็จการทหารก็ยิ่งร้อนแรง โดยรัฐบาลก็พยายามโยงใยกลุ่มปัญญาชนในมหาวิทยาลัยและในกลุ่มสังคมต่าง ๆ (เช่น สื่อมวลชน และนักเขียน) เข้าด้วยกันกับพวกคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลใช้เป็นจุดโจมตีกลุ่มต่อต้าน ว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครองของประเทศ แต่พอทหารทำการล้มล้างสภาด้วยการทำรัฐประหารในตอนปลายปี 2514 การต่อสู้ก็ดุเดือดมากขึ้น เริ่มด้วยการชุมนุมในมหาวิทยาลับรามคำแหง ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ ๆ ในตอนนั้น ตามมาด้วยการเดินขบวนไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ใน พ.ศ. 2515 ด้วยประเด็นการต่อต้านการซื้อสินค้าญี่ปุ่น ครั้นต้นปี 2516 ก็มีข่าวเฮลิคอปเตอร์ของทางตำรวจตกในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร นำไปสู่ประเด็นการต่อสู้ว่ารัฐบาลปกป้องข้าราชการที่ใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนเหล่านั้น ที่สุดในตอนต้นเดือนตุลาคมปีนั้น ก็มีกลุ่มคนออกเดินแจกใบปลิวเรียกร้องให้รัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อคนเหล่านั้นถูกตำรวจจับ ก็มีการชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอให้ปล่อยตัว ซึ่งถึงแม้ว่าตำรวจจะยอมปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่การชุมนุมก็ยืดเยื้อและขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งนำมาสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ได้ชื่อว่า “วันมหาวิปโยค” และทหารก็ถูกขับไล่ไปจากอำนาจชั่วคราวในตอนนั้น

ที่เล่าประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นมาอย่างยืดยาว ก็เพื่อจะอธิบายว่าการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการต่อสู้ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร และก็ใช่ว่าจะประสบผลอย่างยั่งยืน นั่นก็คือตั้งแต่ที่กลุ่มปัญญาชนในมหาวิทยาลัย ที่ก็คือกลุ่มคนรุ่นในใหม่ในยุคนั้น ได้ทำการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ก็ต้องใช้เวลาถึง 16 ปี ด้วยการค่อย ๆ รวบรวม “มติมหาชน” คือความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประชาชน ที่จะไม่เอาระบอบทหาร แต่ครั้นประสบความสำเร็จในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้นแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยโดยเฉพาะนักศึกษาและปัญญาชนนั้นก็รักษาเอาไว้ไม่ได้ เพราะในภายหลังที่การเลือกตั้งที่มีตามมา 2 ครั้งในปี 2518 และ 2519 ระบอบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็ยิ่งมีความขัดแย้งวุ่นวาย ที่สุดทหารก็เข้ายึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับซัดทอดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แย่งชิงอำนาจจากทหารมาได้ก่อนหน้านี้ว่า เป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์ มุ่งหวังที่จะล้มล้างระบอบพระมหากษัตริย์ ทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่วังวนเดิม คือถูกครอบงำด้วยเผด็จการทหารอีกครั้ง จนกระทั่งทหารได้ถูกขับไล่อีกครั้งในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 นำมาสู่ยุคของการปฏิรูปการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันนี้ได้เริ่มเติบโตขึ้น

ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า สมัยที่คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาในหมู่ปัญญาชนตั้งแต่ช่วงก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงช่วงก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรมให้พวกคอมมิวนิสต์ ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐฒนตรีที่ 66/2523 พวกคอมมิวนิสต์จะใช้ยุทธศาสตร์เพื่อการยึดครองอำนาจรัฐ โดยพุ่งเป้าไปที่ทหารและระบบราชการเป็นสำคัญ แต่คอมมิวนิสต์ก็พบว่าแม้จะล้มทหารได้และทำลายความน่าเชื่อถือของระบบราชการได้ แต่ก็ยังไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะฉะนั้นในช่วงที่รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจในช่วง พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา จึงมีข่าวว่ากลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ยังคงฝังรากอยู่มาจนถึงยุคนั้นและได้ร่วมอยู่ในรัฐบาลด้วยบางส่วน ได้มีการประชุมกันที่ประเทศฟินแลนด์ ประกาศ “ปฏิญญาฟินแลนด์” เพื่อโค่นล้ม “อำมาตย์” ที่หมายถึงกลุ่มผู้มีอำนาจในแบบจารีตของไทย นับแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ลงมาถึงกลุ่มทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ ทั้งในและนอกราชการ พ่อค้าและนักธุรกิจใหญ่ นักการเมืองในฝ่ายที่ “ทำมาหากิน” กับกลุ่มคนเหล่านั้น รวมถึงบรรดา “เซเลบ” คือคนดัง ๆ และมีอิทธิพลในทางสังคม เพื่อขายความคิดนี้ต่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ผ่านระบอบทักษิณและกระบวนการคนเสื้อแดง

ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ได้เห็นว่า พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ได้นำเสนอประเด็น “แตะต้องเจ้า” เช่น การล้มเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ในพื้นที่เปิด เช่น การออกมาตามท้องถนน หรือการชุมนุมประท้วง อาจจะดูเหมือนว่ารัฐบาลสามารถควบคุมได้ ทั้งยังสามารถจับแกนนำมาดำเนินคดีและคุมขังได้เป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็เป็นด้วยอำนาจของกฎหมายพิเศษที่รัฐบาลใช้ แต่เมื่อไปดูในพื้นที่ปิด(ที่รัฐบาลก็ติดตามและมีข้อมูลอยู่เช่นกัน) เช่น ในโซเชียลมีเดีย และการพบปะเฉพาะกลุ่ม ก็จะพบว่ามีกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการจาบจ้วงหรือวิจารณ์กลุ่มศักดินาต่าง ๆ แม้แต่ปรากฏการณ์ “ไม่ยืนขึ้นสรรเสริญพระบารมี” ในโรงหนัง ก็มีให้เห็นอยู่กล่นเกลื่อน จนดูเหมือนว่าคนที่ยืนขึ้นนั้นเป็นพวกผิดปกติ

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มก้าวหน้า” ได้ยื่นญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศทั้งหมด หลายคนที่ติดตามชมการอภิปรายในสภา อาจจะมองเห็นว่านี่เป็นแค่เกมการเมืองธรรมดา ที่ฝ่ายค้านต้องการที่จะหาเสียงสร้างความนิยมในฝ่ายของตน แต่ถ้าเราจะมองด้วยทฤษฎีรัฐศาสตร์อย่างที่ผู้เขียนนำเสนอมาตรงบรรทัดแรกของบทความวันนี้ “อะไรคือแกนอำนาจของรัฐ” ก็จะพบว่าคนกลุ่มนี้กำลังมุ่งล้มล้างแกนอำนาจที่สำคัญทางการเมืองของประเทศไทย นั่นคือ “ระบบราชการ” ซึ่งผู้เขียนขอนำไปอธิบายในสัปดาห์หน้า เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า การล้มระบบราชการนี่แหละจะเป็นจุดจบของระบอบประยุทธ์

จากนั้นก็มุ่งล้มล้างรัฐไทย รวมถึง “แกนอำนาจ” อื่น ๆ ที่อยู่เหนือระบบราชการและทหารนั้นด้วย