การเมืองหลังการประชุมเอเปคผ่านพ้นไป มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของคีย์แมนคนสำคัญ อย่าง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กระนั้น แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะยังไม่ให้ความชัดเจนอย่างเป็นทางการถึงอนาคตทางการเมือง แต่ด้วยความที่นายสุชาตินั้น ถือเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่พล.อ.ประยุทธ์ให้ความไว้วางใจมากที่สุด เมื่อนายสุชาติเคลื่อนไหวเช่นนี้  ก็ขับเน้นให้ทิศทางของพล.อ.ประยุทธ์ชัดเจนขึ้น

ภายใต้ความไม่ชัดเจนของพล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจเป็นความชัดเจนที่สุดแล้วว่า จะไม่ไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐแน่นอนแล้ว

ส่วนจะไปเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ ประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาการตีความกฎหมาย ดังที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซต์ไทยแลนด์(25พฤศจิกายน2565) ว่า การเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประยุทธ์จะต้องอยู่ไปจนครบวาระ จะไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะถึงแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ แต่อาจขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  โดยมองว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องเป็นสมาชิกพรรค เรื่องคงต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่ วิธีการเลี่ยงคือต้องยุบสภา ในช่วงใกล้ครบวาระเทอมแล้ว เพื่อสมัครสมาชิกพรรค และใช้เวลาเพียง 30 วันสังกัดพรรค

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์สามารถสมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติได้แม้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐอยู่ ไม่มีข้อผูกมัด และไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ยกตัวอย่างรัฐมนตรี ตอนเข้ามาอยู่พรรคหนึ่ง พออยู่ไปแล้วย้ายไปพรรคอื่นก็มีเกือบทุกสมัย ยืนยันทางกฎหมายไม่มีปัญหาอะไร เพราะเริ่มต้นไม่ได้มีการระบุว่าคนที่ถูกเสนอรายชื่อ ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้น พรรคไปเสนอชื่อเขาเอง เขาไม่ได้เป็นอะไรกับพรรคตั้งแต่ต้น วันนี้หากเขาระบุว่าเลือกบ้านอยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่หากนายปริญญาตั้งข้อสงสัยก็มีสิทธิ์ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอนาคตของพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในสถานะใด อาจไม่สำคัญเท่ากับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย และการต่อสู้ในฐานะนักการเมืองเต็มตัวของพล.อ.ประยุทธ์