ยูร กมลเสรีรัตน์
ผมเจอยายฟอครั้งแรกที่ร้านขายของเบ็ดเตล็ดตรงเขาโทน ยายฟอนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์มากันสามคนจอดซื้อของ ผู้ชายร่างใหญ่เป็นคนขับ ตรงกลางเป็นเด็กผู้ชาย ยายฟอนั่งท้ายสุด
เขาโทนอยู่ห่างจากบ้านที่ผมอยู่ราว 2 กิโลเมตร เป็นภูเขาสูงตระหง่านทอดออกไปเป็นแนวยาว บางช่วงสูงต่ำลดหลั่นสลับกัน ในภายหลังทางการเอามาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเขาโทน เขาโทนมีทั้งคนไทยและคนมอญอาศัยอยู่ บางช่วงมีบ้านเรือนอยู่ติด ๆ กัน บ้านเรือนบางช่วงทิ้งระยะห่างกัน บางช่วงเป็นป่าเวิ้งว้าง บางช่วงเป็นไร่สวน ตลอดแนวจะมีรีสอร์ททิ้งระยะห่างกันบ้าง ใกล้กันบ้าง
ปกติแล้วผมปั่นจักรยานเสือภูเขาออกกำลังกายลงไปแถวเขาโทนทุกเช้า ปั่นไปถึงช่วงหนึ่งเป็นเนินสูงมาก ต้องออกแรงหน่อย พอตอนลง ไม่ต้องออกแรงปั่น ปล่อยให้วิ่งลงไปเอง เรียกว่า วิ่งฉิวปลิวลม ต้องกำเบรกไว้ให้ชะลอความเร็วลง ก่อนที่จะเลี้ยวไปทางร้านขายของเบ็ดเตล็ดอีกราว ๆ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นเนินสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ผมจะจอดรถจักรยานนั่งพักที่นี่ บางครั้งซื้อของติดไปด้วย
ยายฟอเป็นคนมอญ มอญเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของประเทศเมียนมา แกพูดภาษาไทยชัดมาก เพราะมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่รุ่น ๆ หน้าตาคนมอญกับคนไทยแยกไม่ออกหรอก เพราะคนเอเชีย หน้าตาคล้าย ๆ กัน ตอนแรกผมคิดว่ายายฟอเป็นคนไทยเสียอีก
ผมพอรู้ภาษามอญงู ๆ ปลา ๆ เพียงไม่กี่คำ นึกสงสัยว่าชื่อของยายฟอ มาจากคำในภาษามอญว่า”อะเชฟอ”หรือเปล่าและเป็นชื่อจริงของยายฟอหรือเปล่า หรือว่าไม่เกี่ยวกัน แต่ตั้งชื่อชวนให้คิด ก็ตอนยังสาวยายฟอสวยมาก เพราะคำว่า “อะเชฟอ”แปลว่านางฟ้า,นางอัปสร
ยายฟอยิ้มเก่ง ออกหวานด้วย ภายใต้เนื้อหนังที่เหี่ยวย่นตามวัย หากมองให้ลึกซึ้งเข้าไปในอดีตที่ยังสาว ยายฟอมีเค้าสวยมาก่อน รูปร่างที่บอบบางของแก ถ้าเป็นตอนยังสาว ถือว่าหุ่นดีมาก จะไม่สวยได้ยังไง เมื่อผมมารู้ในภายหลังจากติ๋ม เจ้าของร้านขายของบอกผมว่า
“ตอนยังสาวยายฟอสวยมาก ผิวขาว ไม่งั้นพวกหนุ่ม ๆ จะมาตอมแกเรอะ”
ใช่ ถ้าสังเกตให้ดี ยายฟอเป็นคนผิวขาว แต่ด้วยสังขาร ผิวหนังเหี่ยวย่นและตกกระ ทำให้มองไม่เห็นชัดเจนเหมือนตอนยังสาว คนแก่อายุเกือบ 80 ปี จะเหมือนคนที่ยังสาวได้ยังไงกัน
พอรู้ว่าตอนยังสาวยายฟอสวยมาก ผมจึงพูดเย้าขึ้นลอย ๆ ในวันหนึ่งที่เจอยายฟอ เมื่อแกแวะมาซื้อของที่ร้านนี้ว่า
“ได้ยินว่าตอนยังสาวยายสวยมาก มีลูกสาวมั้ยครับ ผมยังโสดครับ”
ยายฟอไม่ตอบ ได้แต่ยิ้มน้อย ๆ ติ๋มเป็นคนตอบแทนว่า
“นั่นไงลูกเขยแก นั่นเหลน ”ติ๋มบุ้ยปากไปยังชายคนขับมอเตอร์ไซค์กับเด็กชายที่กำลังเดินตามมา
ผมได้ยินคำตอบ อดขำไม่ได้ เลยหัวเราะออกมา ลูกเขยยายฟอหันมามองผมพลางยิ้มแห้ง ๆ ดูหน้าตาแล้ว ลูกเขยยายฟอน่าจะอายุราว ๆ ห้าสิบปี หลังจากที่มอเตอร์ไซค์ที่ยายฟอนั่งมากับลูกเขยและหลานวิ่งออกไปแล้ว ติ๋มเล่าให้ฟังว่า
“ลูกสาวแกอายุมากแล้ว จนมีเหลนแล้ว แกมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ยังสาว ๆ โน่น แกมีลูกสามคน ตายสองคน” “ตายสองคน”ผมทวนคำ “เป็นอะไรตายเหรอ”
“ป่วย สมัยก่อนยังไม่เจริญ คนมอญเขารักษาตามมีตามเกิด”
อย่าว่าแต่สมัยก่อนที่หมู่บ้านยังเป็นป่า ไม่มีถนนเลย แม้ในปัจจุบัน หมู่บ้านที่ผมอยู่ เจริญกว่าเดิม แต่เพราะยังเป็นชนบท จึงไม่มีโรงพยาบาล มีแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สมัยก่อนก็คืออนามัยนั่นแหละ รักษาเฉพาะโรคสามัญทั่วไป ประเภทปวดหัวตัวร้อน ถ้ารักษาโรคที่หนักหนาหรือร้ายแรง ต้องไปที่โรงพยาบาลอำเภอโทรโยค หรือไปโรงพยาบาลในตัวจังหวัดกาญจนบุรี
ด้วยอายุปูนนี้ของยายฟอ แกผ่านร้อนผ่านหนาวมาและทุกข์สุขมาไม่รู้เท่าไหร่ จนมีลูกมีหลานและเหลน ตอนที่แกอยู่ที่บ้านเกิด แกมีชีวิตที่สวยงาม เต็มไปด้วยความสุข หากในเวลาต่อมาชีวิตของแกกลับพลิกผัน เมื่อประสบกับชะตากรรมบางอย่าง....
ครั้งที่ยายฟอยังเป็นนางสาวฟอ อยู่ที่พม่า ขอใช้ว่า “พม่า” ไม่ใช้ “เมียนมา”เพราะตอนนั้นยังไม่เปลี่ยนชื่อประเทศ นางสาวฟอเป็นคนสวยของหมู่บ้าน เวลามีงานบุญประเพณี นางสาวฟอในชุดโลนจี สีสดใส(โลนจี เป็นโสร่งยาวถึงข้อเท้า คนไทยออกเสียงเป็น ลองยี) เสื้อคอกลมแขนกระบอก ยาวจรดข้อมือ ลวดลายเป็นดอกดวง ผมเกล้าสูง ปล่อยชายผมห้อยลงมาข้างหนึ่ง ผัดหน้าด้วยแป้งตะนะค่า หรือออกสำเนียงไทยว่า ทานาคา แป้งตะนะค่าเป็นแป้งสีเหลืองนวล ใช้แต้มเป็นจุด ๆ หรือแต้มเป็นวงบนแก้ม นอกจากนี้ยังช่วยให้เย็นในหน้าร้อน
บรรดาหนุ่มมอญและหนุ่มพม่า เมื่อเห็นนางสาวฟอเดินผ่านหรือเดินสวนกัน จะพากันมองจนเหลียวหลัง และลอบสูดกลิ่นแป้งตะนะค่า ซึ่งมีมีกลิ่นหอมเหมือนไม้จันทน์ด้วยความพิสมัย แต่นางสาวฟอเป็นคนไว้นวลสงวนตัวตามแบบผู้หญิงมอญโบราณที่ยึดมั่นในประเพณีอันดีงาม เธอไม่เคยทำตัวให้เสื่อมเสียแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงกิริยาจริตจะก้านหรือการส่งสายตาให้ผู้ชาย
ความที่เป็นคนสวยนี่เอง เมื่อมีงานบุญสงกรานต์ มีการจัดประกวดนางงามสงกรานต์หรือในไทยเราเรียกว่า เทพีสงกรานต์ คุ้มที่นางสาวฟออาศัยอยู่ จึงส่งเธอเข้าประกวดนางงามสงกรานต์ ความสวย ความอ่อนหวานและความอ่อนช้อย รวมทั้งน้ำเสียงที่กังวานใสไพเราะทำให้ชนะใจ
กรรมการ นางสาวฟอจึงได้ครอบครองถ้วยนางงามสงกรานต์ในปีนั้น นำความปลื้มใจให้กับครอบครัวของนางสาวฟอเป็นอย่างมาก
วันหนึ่ง ญาติห่าง ๆ ทางพ่อของนางสาวฟอมาเยี่ยม เขาเป็นนักศึกษาพม่า พักอยู่ที่บ้านนางฟอหลายวัน เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ความใกล้ชิดสนิทสนม ทำให้หนุ่มนักศึกษากับนางสาวฟอตกหลุมรักซึ่งกันและกัน หลังจากวันนั้นหนุ่มนักศึกษาพม่าก็จะแวะมาเยี่ยมนางสาวฟอค่อนข้างบ่อย จนกระทั่งความรักของคนทั้งสองสุกงอมและเป็นของกันและกัน แต่ความลับไม่มีในโลก เรื่องแดงขึ้น เพราะนางสาวฟอตั้งท้อง
พ่อแม่ของนางสาวฟอโกรธมาก แต่เมื่อเรื่องล่วงเลยมาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่อาจแก้ไขได้ อย่างไรเสียเธอก็เป็นลูกสาวเพียงคนเดียว จึงให้คนทั้งสองแต่งงานกันตามประเพณี เพื่อไม่ให้เป็นขี้ปากของชาวบ้าน
ชีวิตคู่ของนางสาวฟอกับสามีกำลังหวานชื่น เต็มด้วยความสุข เพราะสามีให้ความรักและความเอาใจใส่เธอเป็นอย่างดี แม้เขาจะไปเรียน เขาก็หาเวลามาเยี่ยม เขาทะนุถนอมเธอมาก โดยเฉพาะตอนเธอตั้งท้อง คนทั้งสองต่างก็รอวันที่ลูกน้อยจะออกมาลืมตาดูโลก
ชีวิตคนเรานี่ก็แปลก ในขณะที่กำลังมีความสุขหรือชีวิตกำลังจะดำเนินไปด้วยดี สวรรค์ชอบกลั่นแกล้ง
ในห้วงเวลานั้นเกิดการประท้วงรัฐบาลพม่าครั้งใหญ่ จนเกิดจลาจล เมืองหลวงเต็มไปด้วยความโกลาหล ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านและนักศึกษา แม้กระทั่งพระสงฆ์พากันลุกฮือประท้วงรัฐบาลพม่า สามีของนางสาวฟอเข้าร่วมการประท้วงในครั้งนี้ด้วย
สงครามกลางเมืองปะทุขึ้น เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับฝ่ายรัฐบาล มีคนบาดเจ็บและล้มตายมากมาย ผู้ประท้วงต่างแตกฮือ หนีหัวซุกหัวซุนไปคนละทิศคนละทาง ทุกหย่อมหญ้าลุกเป็นไฟ เพราะถูกทางการปราบปรามอย่างหนัก ทุกคนต่างพากันเข้าไปซ่อนตัวในป่า หาทางหลบหนี ทางรอดมีเพียงหนทางเดียวคือ หนีข้ามมาฝั่งไทย
“สามสิบปีก่อน คนมอญกับคนพม่าพากันหนีตายข้ามแม่น้ำมา ลอยคออยู่ในแม่น้ำสามวันสามคืน”ชาวบ้านซึ่งเป็นคนมอญเป็นคนเล่าเหตุการณ์นี้ให้ฟัง
การลอยคอในแม่น้ำ จะได้อาศัยความมืดของเวลากลางคืนหลบหนีได้ดีกว่าอยู่ในเรือ อยู่ในเรือจะถูกกราดยิงได้ง่าย การหลบหนีจึงมีทั้งคนที่รอดและไม่รอด รวมทั้งคนบาดเจ็บ บางคนบาดเจ็บสาหัส ไปสิ้นใจที่ฝั่งไทย
ดวงชะตาของยายฟอยังไม่ถึงฆาต เพราะสามีรีบผลักเธอลงจากเรือในทันทีที่แสงไฟบนฝั่งสาดมา พร้อมกับเสียงปืนกลรัวถี่ยิบ ระคนเสียงคนกระโดดลงน้ำดังตูมตามแตกซ่าไปทั่วท้องน้ำ นางสาวฟอรีบผลุบหัวลงไปใต้ผืนน้ำ เธอกลั้นหายใจ รอจนกระทั่งเสียงปืนเงียบลง ไม่มีแสงไฟส่องมา จึงค่อย ๆ โผล่ขึ้นจากผิวน้ำ ว่ายเข้าไปเกาะกราบเรือไว้
นางสาวฟอเห็นสามีฟุบหน้าอยู่ข้างกราบเรือ มือข้างหนึ่งพาดห้อยอยู เธอจึงเอื้อมไปแตะมือของสามี แต่เขายังคงฟุบหน้านิ่ง ไม่กระดุกกระดิก เธอจึงจับมือของเขาเขย่าแรง ๆ แต่ร่างของเขา ไม่ไหวติงแม้แต่น้อย เธอมองร่างของสามีพลางสะอื้นไห้ออกมาเบา ๆ
“ผมลอยคอในน้ำไม่ไกลจากยายฟอ คิดว่าตายแน่ ๆ โชคดีเป็นคืนเดือนมืด พวกผมลอยคอในน้ำสามวันสามคืนจนมาถึงฝั่งไทย ลงไปข้างล่างโน่น”คนมอญที่เล่าชี้นิ้วไปอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นแนวป่ายาวเหยียด “ข้ามแม่น้ำอีกสองกิโล ก็ถึงฝั่งพม่า ตรงที่ข้ามมาเป็นป่า”
พ่อแม่ของยายฟอไม่ได้หนีมาด้วย เพราะเป็นชาวบ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แต่พ่อแม่ของยายฟอตายนานแล้ว ส่วนลูกของยายฟอที่ตายสองคน ทำให้ผมสงสัยครามครัน เพราะตอนยายฟอมาอยู่เมืองไทย เพิ่งตั้งท้อง ลุงสุกขี้เมาเป็นคนเฉลยให้ฟัง
“ขนาดตอนยายฟอท้องแก่ ยังมีหนุ่ม ๆ ทั้งคนไทยคนมอญมาจีบแก บางคนฐานะดีด้วย แต่ แกไม่สนใจ คนมอญคนหนึ่งคงสงสารแก ไม่ได้มาจีบหรอก ช่วยดูแลแกทุกอย่าง จนแกออกลูก ตอนหลังก็อยู่ด้วยกัน เจ้าหนุ่มคนนี้เป็นคนขยัน ทำงานในไร่ หาปลาก็เก่ง พอมีลูกกับผัวใหม่สองคน ลูกทั้งสองคนก็ป่วยตายตั้งแต่ตอนยังเล็ก เหลือแต่ลูกสาวที่มีกับผัวเก่า”
ยายฟออาศัยแผ่นดินไทยอยู่ตั้งแต่ยังสาวจนแก่ชราอย่างมีความสุข มีที่ดินสร้างบ้านและมีที่ดินทำไร่ซึ่งจับจองกันในสมัยนั้นได้ทำมาหากินเลี้ยงชีพ ชีวิตครอบครัวมีความอบอุ่นกับลูกหลานและเหลน ซึ่งเป็นคนไทยตามกฎหมาย เพราะเกิดที่เมืองไทย
“มะเงยระอาว”ผมทักยายฟอด้วยภาษามอญในเย็นวันหนึ่ง หน้าร้านขายของร้านเดิมที่เขาโทน เมื่อยายฟอลงมาจากมอเตอร์ไซค์ เดินเข้ามาในร้าน
ถ้าพูดสำเนียงมอญ จะออกเสียงว่า “เมียะเหง่อระอาว” คนมอญจะใช้ทักทายเวลาเจอกัน
ประโยคนี้มีความหมายว่า สวัสดี ในภาษาไทย แต่แท้จริงแล้วมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น เพราะคำว่า “เมียะเหง่อ”มีความหมายว่า มงคล เมียะเหง่อระอาว จึงมีความหมายในเชิงอวยพรให้โชคดี
ยายฟอหันมามองผมพลางหัวเราะเบา ๆ ด้วยสีหน้าเบิกบานที่คนไทยทักทายด้วยประโยคสำคัญของคนมอญ รอยยิ้มของแกที่ยิ้มให้ผมเป็นรอยยิ้มที่น่ารักสมกับวัยและ เป็นรอยยิ้มที่อ่อนโยนเหมือนกับบุคลิกของแก