ทวี สุรฤทธิกุล

ระบอบประยุทธ์น่าจะสิ้นสุดในเร็ว ๆ นี้ ถ้าคนรุ่นใหม่คัดสรรผู้นำได้ดีกว่านี้

แนวคิด “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ใช้อธิบายภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กำลังถูกท้าทายด้วยแนวคิด “ประชาธิปไตยสองวัย” ที่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้นแล้ว

แนวคิดประชาธิปไตยสองวัยนี่เองที่จะโค่นล้มระบอบประยุทธ์

ก่อนอื่นต้องอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดสองนคราประชาธิปไตย ให้กับท่านที่อาจจะไม่ได้ติดตามงานวิชาการทางการเมือง รวมถึงท่านที่อาจจะมีความรู้เรื่องนี้มาแล้วแต่อาจจะยังไม่ได้ติดตามพัฒนาการในแนวคิดนี้ให้ชัดเจน ผู้เขียนจึงอยากจะนำมาอธิบายเชื่อมโยงเข้ากับการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคต โดยเฉพาะอนาคตของระบอบประยุทธ์อย่างที่ได้จั่วหัวไว้นี้

“สองนคราประชาธิปไตย” เป็นชื่องานทางวิชาการของอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ของการเมืองไทยในช่วงก่อนและหลังการปฏิรูปการเมืองใน พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ว่าเป็นผลจากการต่อสู้ระหว่างพลังการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ “คน  2 นครา” (“นครา” มีความหมายว่ากลุ่มผู้คนที่รวมกันอยู่ในชุมชนหรือพื้นที่หนึ่ง ๆ) นคราแรกก็คือคนในเมืองที่เคยชี้นำทิศทางทางการเมืองมาตลอด กับอีกหนึ่งนคราคือคนในชนบทที่แสดงพลังอย่างมหาศาลหลังการเลือกตั้งในปี 2544 ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากอดีตที่คนในเมืองมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการจัดตั้งและล้มรัฐบาล เปลี่ยนมือมาสู่คนในชนบท รวมถึงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคนสองพื้นที่นี้ ดังที่ได้เห็นปรากฏการณ์ “เสื้อเหลือง - เสื้อแดง” ในปี 2548 - 2549 และ “เสื้อแดง - ซ่าหริ่ม” ในปี 2556 - 2557 ดังกล่าว

ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา แม้ว่าทหารจะพยายามปิดกั้นและกำจัดระบอบทักษิณมาเป็นระยะ แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารก็พ่ายแพ้ต่อพรรคการเมืองที่สนับสนุนทักษิณ (เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งในปี 2550 ที่พรรคในแนวร่วมของฝ่ายทหารก็พ่ายแพ้ต่อพรรคพลังประชาชนของกลุ่มสนับสนุนทักษิณ) ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า พลังของคนในชนบทที่รักทักษิณนั้นยังแน่นเหนียว ในทำนองเดียวกันกับคนจนในเมืองที่มีความเห็นอกเห็นใจทักษิณก็ยังมั่นคง ทำให้เกิดพลังทางการเมืองแบบ “ชนบทพลัส” คือพลังของคนในชนบทเสริมเข้าด้วยกันกับพลังในเมืองอีกบางส่วน “บวก” หรือ “พลัส” เข้ามานั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งในปี 2562 ยังแสดงพลังของ “คนรุ่นใหม่” ที่แสดงออกผ่านการเลือก ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ (ต่อมาภายหลังที่ถูกยุบพรรคได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคก้าวหน้า และต่อมาเป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน) โดยผู้สมัครคนรุ่นใหม่ของพรรคนี้สามารถเอาชนะนักการเมืองเจ้าของพื้นที่ได้ในหลาย ๆ เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยได้ ส.ส. เข้ามาจำนวน  81 คน เป็นอันดับที่ 3 รองจากพรรคเพื่อไทยที่ได้เข้ามากเป็นอันดับแรก 136 คน และพรรคพลังประชารัฐ อันดับที่สอง 116 คน โดยพรรคอนาคตใหม่(ต่อไปจะเรียกว่าพรรคก้าวไกล)ได้ประกาศนโยบายเชิดชูคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเป็นแกนนำในการต่อสู้ในประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม อันอยู่ในแนวนิยมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้นว่า ต่อต้านเผด็จการทหาร และอิสรภาพในการคัดค้านศักดินา

แม้ว่าผู้คนจำนวนหนึ่งมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ว่าเป็นการสร้างอันอันตรายต่อบ้านเมือง แต่พรรคก้าวไกลก็ยังคงเคลื่อนไหวไปในแนวนั้น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงก็คงจะใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างเข้มข้นนั้นด้วย เพราะคู่ต่อสู้ของพรรคก้าวไกลนั้นก็คือ “คนรุ่นเก่า” ที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ ที่ยังคงเกาะกุมอาศัยพลเอกประยุทธ์เป็น “เครื่องมือหากิน” กลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองให้ได้ต่อไปอีก โดยน่าจะใช้สโลแกนเดิม ๆ ในการหาเสียง คือ “รักสงบจบที่ลุงตู่”

อย่างไรก็ตาม ระบอบประยุทธ์นั้นก็มีจุดอ่อนด้อยมากมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเปลี่ยนบุคลิกภาพที่ผู้คนเคยรักและสนับสนุน คือความเป็นทหารที่รักษาคำสัตย์และมีความเป็นกลางทางการเมือง มาเป็น “อดีตทหาร” ที่ไม่รักษาคำมั่นสัญญาและหันไปคบหาสมาคมกับนักการเมืองที่ตนเองเคยโจมตีแล้วยึดอำนาจ ร่วมกับความกระสันดิ้นรนอยากอยู่ในอำนาจนาน ๆ ถึงขั้นกำกับการเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามปรารถนานั้น ที่สุดก็คือความไม่เอาไหนในการดูแลระบบรัฐสภา ทั้งที่ได้ปล่อยให้ ส.ส.ก่อความวุ่นวายเละเทะ (เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าเผด็จการทหารนั้นดีกว่า) และที่ได้ทำให้พรรคการเมืองระส่ำระสาย (เพื่อให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะตนเองมีพรรควุฒิสภาที่คุมไว้ในมือแล้วทั้งหมด) ทั้งหมดนี้ย่อมนำมาสู่ความเบื่อหน่ายของคนรุ่นใหม่ต่อระบอบประยุทธ์ ที่หมายถึงความเบื่อหน่ายต่อคนรุ่นเก่าที่ยังสนับสนุนระบอบประยุทธ์นั้นด้วย อันเป็นสิ่งที่อาจจะนำไปสู่การต่อสู้อย่างดุเดือดในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้

การต่อสู้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้งก็ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานี่เอง เพราะคะแนนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ได้มากว่า 1.38 ล้านคะแนนนั้น มีข้อมูลว่าเป็นคะแนนของคนที่อยู่ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ไม่น่าจะน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รวมกับกลุ่มคนรุ่นเก่าที่เบื่อระบอบประยุทธ์นั้นอีกราว 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือกลุ่มคนที่สนับสนุนนายชัชชาติมาตั้งแต่ที่อยู่พรรคเพื่อไทย ซึ่งก็คือกลุ่มคนเสื้อแดงและสนับสนุนระบอบทักษิณนั่นเอง

โดยทั่วไปเมื่อพูดถึง “คนรุ่นใหม่” เรามักจะแบ่งกันด้วยวัยวุฒิหรืออายุ แต่คนรุ่นใหม่ที่ผู้เขียนกำลังนำเสนอในบทความนี้ ไม่ได้หมายถึงแค่คนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่าคนรุ่นเก่าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคนที่อาจจะมีอายุพอสมควรเกินวัยคนรุ่นหนุ่มสาวนั่นไปแล้ว แต่ได้เกิด “ความคิดใหม่ ๆ” แตกต่างจากความคิดของคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะที่คนรุ่นเก่าเหล่านี้ได้มีความเห็นไปในแนวเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ทั้งหลายนั้นด้วย อย่างที่ในภาษาการเมืองเรียกว่า “ผู้ร่วมอุดมการณ์” นั่นเอง ดังนั้นเราก็น่าจะได้เห็นจำนวนผู้คนที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกันนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะขอนำไปอธิบายเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า

โดยจะอธิบายว่า กระบวนการต่อสู้ที่จะโค่นล้มระบอบประยุทธ์ของพวกเขานั้นจะเป็นเช่นไร