ต่อจากฉบับเมื่อวาน
ที่เมื่อพูดถึงการนิรโทษกรรม ในอดีตมีตัวอย่างในสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่นิรโทษกรรมและสร้างความปรองดองนิรโทษกรรมทางการเมือง ที่แม้ความขัดแย้งในปัจจุบันจะมีความสลับซับซ้อนจากสงครามการสู้รบในอดีต แต่อาจนะมาศึกษาเทียบเคียง
“...5. สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้นที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้น ๆอันพึงจะมีให้ระมัดระวังและอย่าสับสนระหว่างขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงโดยยกประชาธิปไตยนำหน้า
6. ภารกิจของเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ มีทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธ และการปฏิบัติในด้านการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ขอบเขตและระดับของการปฏิบัติงานในการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธอาจแตกต่างกันออกไปบ้างแต่ภารกิจในด้านการเมืองซึ่งเป็นเรื่องหลักมีความทัดเทียมกันทุกประการ การปฏิบัติด้วยกำลังอาวุธให้พิจารณาประเภท ขนาดกำลังและยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อกดดัน ลิดรอน ทำลาย กองกำลังติดอาวุธโดยต่อเนื่อง
7. ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม
8. ให้ความสำคัญการต่อสู้ในเมืองให้มากที่สุดเพื่อขจัดการจัดตั้ง และขยายแนวร่วมตามแนวทางการเมืองสนับสนุนป่า และการขัดขวางการสร้างสถานการณ์ปฏิวัติ และสถานการณ์สงครามประชาชาติ สถานการณ์ปฏิวัติมีรูปแบบในการโดดเดี่ยว รัฐบาลจากประชาชนทำลายรัฐบาลให้อ่อนแอ การทำลายหรือช่วงชิงการนำขบวนการประชาธิปไตย อันเป็นศัตรูของคอมมิวนิสต์ การสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติจะอาศัยแนวร่วมซึ่งมีแทรกอยู่ทุกระดับเพื่อสร้างประชามติ และนำชาติไปสู่การสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถปฏิวัติได้สำเร็จ หากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จในการจัดตั้ง และขยายแนวร่วมในเมืองได้ จะสามารถดำรงขีดความสามารถในการรุกทางการเมือง สามารถสร้างความสับสนทางการเมือง ความวุ่นวายในทางเศรษฐกิจและสามารถสร้างกระแสคลื่นของประชาชนส่วนใหญ่ไปแนวทางที่ต้องการได้ จะต้องทำความเข้าใจว่าการสร้างแนวร่วมในเมืองนี้ยากที่จะมองเห็นได้แจ่มชัดเพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายอาศัยตัวแทนในรูปแบบต่างๆ และการใช้เหตุการณ์เฉพาะกรณีให้เป็นไปเสมือนการขัดแย้งโดยทั่วไป นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง
และ9. การข่าว การจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ เป็นมาตรการอันสำคัญและให้ดำเนินการในลักษณะเชิงรุกอย่างมีแผนและสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกขั้นตอน...”