ยูร  กมลเสรีรัตน์

สุมิตรา จันทร์เงาจากไปเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ด้วยโรคมะเร็งในสมองที่คร่าชีวิตคนมานับไม่ถ้วน ตอนหลังผมกับเธอไม่ได้เจอกันเป็นเวลาหลายปี ต่างคนต่างมีภาระหน้าที่และอยู่ไกลกัน ที่ทำงานของเธออยู่บริษัทมติชน ประชาชื่น บ้านอยู่รังสิต  ส่วนผมทั้งบ้าน ซึ่งเป็นที่ทำงานด้วยอยู่ตลิ่งชัน ชีวิตในเมืองกรุงไม่เอื้ออำนวยที่จะเจอกันง่าย ๆ นอกจากไปเจอกันในงานของสังคมวงวรรณกรรม

อีกอย่างช่วงหลังผมไม่ค่อยออกงาน  เพราะเริ่มเบื่อ ๆ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมไม่รู้ข่าวคราวการจากไปของเธอ  ผมรู้ข่าวในขณะที่กำลังเดินทาง ไปเยี่ยมอาจินต์  ปัญจพรรค์ ที่กาญจนบุรี  วัธนา บุญยัง ที่ผมนั่งรถไปด้วย เป็นคนบอกข่าวเศร้านี้  ผมรู้สึกใจหายวาบ คาดไม่ถึงว่า เธอจะจากไปเร็ว ทั้งที่อายุยังไม่ถึง 60   ปี

ก่อนหน้าที่จะรู้จักกัน “แหม่ม” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเธอ  เธอคร่ำเคร่งกับงานในหน้าที่บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม อันหนักอึ้ง ทั้งเป็นบรรณาธิการและเขียนด้วย  เธอเคยเล่าให้ฟังว่า...

“เจ็ดปีแหม่มไปไหนไม่ได้เลยพี่ยูร  ไหนจะทำหนังสือ ไหนจะเขียนลงศิลปวัฒนธรรมด้วย เขียนคอลัมน์ลงหนังสือในเครือมติชนด้วย”

“แหม่ม”เป็นคนบ้านเดียวกับผม  เกิดที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นอกจากนี้แล้วเธอยังเป็นลูกศิษย์ของญาติผม ตอนเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนธาตุพนม  แต่เรารู้จักกันที่กรุงเทพฯ ในทางพุทธถือว่าเคยทำบุญมาร่วมกันมาก่อน  แล้วจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย  เขตยานนาวา กรุงเทพฯ  เธอชอบการเขียนมาก เขียนทั้งกลอนและโคลงสี่สุภาพ ได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดตามวาระต่างๆ ของโรงเรียนอยู่เนือง ๆ และผลงานถูกนำไปอ่านหน้าเสาธง

ด้วยความรักในตัวหนังสืออันมีมนต์เสน่ห์อัศจรรย์สำหรับเธอ  สุมิตรา  จันทร์เงาบอกตัวเองว่าจะต้องเดินบนถนนสายน้ำหมึกให้ได้  เธอจึงทลายกำแพงของความเป็นเด็กบ้านนอกที่ขลาดกลัว  ไปสมัครสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์เพียงคณะเดียวเท่านั้น  

หลังจากเรียนจบคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  เอกภาษาอังกฤษเมื่อปี 2525 เธอสมัครเข้าทำงานที่บริษัทมติชนได้อย่างใจหวัง สุมิตรา  จันทร์เงาสวมบทบาทแรกด้วยการเป็น

นักข่าวประจำโต๊ะข่าวต่างประเทศ  หนังสือพิมพ์มติชน จนกระทั่งเลื่อนตำแหน่งตามลำดับ จากหัวหน้าข่าวการตลาด หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือบริษัทมติชน แล้วกร้าฟชีวิตการทำงานก็สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนกระทั่งเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทมติชน

กว่าจะก้าวขึ้นมาสู่วงการน้ำหมึก สุมิตรา จันทร์เงา  บ่มเพาะการอ่านมาตั้งแต่ชั้นประถม  หนังสือเล่มแรกที่เธอรู้จักคือ วารสารตำรวจ  เพราะพ่อของเธอรับราชการตำรวจ  เรื่องสั้นของนักเขียนรุ่นลายครามที่เธอได้อ่านเป็นครั้งแรก จนทำให้อยากเป็นนักเขียนคือ เรื่องสั้นของพล.ต.อ.วศิษฐ  เดชกุญชรและพ.ต.ต.ประชา  พูนวิวัฒน์  ฉายา “นักเขียนบรรทัดทอง” 

โดยเฉพาะพล.ต.อ.วศิษฐ  เดชกุญชร เธอมีความภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานกับนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ระดับลายครามที่บริษัทมติชนอย่างไม่คาดฝันมาก่อน  นักเขียนทั้งสองคนนี้สร้างแรงขับให้กับเธอ ทำให้มีพลังมุ่งมั่นในการเขียนหนังสือเป็นอย่างมาก  

ผลงานของนักเขียนรุ่นครูอีกคนหนึ่งที่สุมิตรา จันทร์หลงรักก็คือ หัสคดีชุด พล นิกร กินหงวนหรือ สามเกลอ ของ ป.  อินทรปาลิต  รวมทั้งนวนิยายเรื่อง“เพชรพระอุมา”ของพนมเทียน ซึ่งเธอได้อ่านตั้งแต่ครั้งที่ตีพิมพ์ในนิตยสารจักรวาลปืน

 ส่วนนิตยสารอื่นที่เธอมีโอกาสอ่านในวัยเด็ก โดยขอยืมเพื่อนบ้านอ่านหรืออ่านตามห้องสมุดบ้าง เพราะฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวยที่จะซื้อหนังสือ ซึ่งเป็นปัจจัยเกินความจำเป็นของครอบครัวที่มีลูกถึงห้าคน ได้แก่บางกอก,ทานตะวัน, ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์,วิทยาสารฯลฯ

“ เวลาอยากอ่านหนังสือ  จะไปขอยืมจากเพื่อนบ้าน ต้องรอเขาอ่านให้จบก่อน ทำให้ถูกแม่ดุเป็นประจำ  บางทีก็ไปยืมนิยายจากห้องสมุดมาอ่าน” 

เธออ่านหนังสือที่เคยอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความหลงใหลในตัวอักษรทุกตัว อย่างไม่รู้เบื่อหน่าย แม้กระทั่งตัวอักษรบนถุงใส่กล้วยแขกหรือเศษกระดาษหนังสือพิมพ์  แล้วจดข้อความที่ชอบเป็นพิเศษลงในสมุดบันทึก ซึ่งเสมือนเป็น “วรรคทอง”สำหรับเธอ

ในด้านการเขียนนั้น ครั้งที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากรปีแรก  สุมิตรา จันทร์เงาเขียนกลอนเปล่าตามกระแสนิยมของยุคหลัง6  ตุลาคม 2519 ในเวลาต่อมา เธอจึงหันไปเขียนเรื่องสั้นแต่ไม่กล้าส่งไปที่ไหน จนกระทั่งเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์มติชนเมื่อปี 2526  เรื่องสั้นเรื่องแรก “ล่า” จึงได้ตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ที่มี เสถียร  จันทิมาธร เป็นบรรณาธิการบริหาร  

แต่เรื่องสั้นเรื่องต่อ ๆ มาอีกหลายเรื่องก็ไม่ผ่านการพิจารณา  อีกราว  2  ปีต่อมา เรื่องสั้นเรื่องที่ 2 “ผู้ชาย : หล่อนกับเขา” จึงได้รับการตีพิมพ์  เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้าวอื้อฉาว ในแง่เปิดเปลือยความรู้สึกด้านมืดของมนุษย์  ระหว่างชายกับหญิง  ความรักกับความใคร่และทัศนคติต่อเพศตรงข้าม ทำให้เธอได้ค้นพบตัวตนในการเขียนงานแนวอีโรติกในแบบฉบับของตัวเอง

สุมิตรา  จันทร์เงาเขียนเรื่องสั้นไว้ไม่มากนัก เพราะมีงานประจำรัดตัว  แต่ถ้าเธอเขียนเรื่องสั้น เธอจะประณีตและพิถีพิถันมาก  ผมคิดว่าเรื่องสั้นของนักเขียนหญิงผู้นี้มีมิติ โดยเฉพาะแนวอีโรติก ไม่ว่าจะเป็นปูมหลังของตัวละครและอารมณ์ของตัวละคร ที่สำคัญ  งานเขียนของเธอมีท่วงทำนองของภาษากวี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการเขียนงานร้อยกรองมาก่อน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ผลงานรวมเล่มของสุมิตรา  จันทร์เงามีดังนี้  รวมเรื่องสั้น-กระดังงากลีบช้ำ,นิยาย ไฮโซฯ,ดอกม่าย  นวนิยาย-ดุจดั่งดวงแก้ว,ห้องชุดของปรารถนา สารคดีประวัติศาสตร์ สารคดี ท่องเที่ยวและสารคดีความรู้-สยามยามวิกฤติ : ตามรอยพระบาทเสด็จประพาสยุโรปของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง,รอยทรายในลายหิน, พาเหรดสวนผัก,บอกรักด้วยผัก,บ้านริมทะเล ฯลฯ

ข้อเขียนใช้นามปากกา “รื่นรตี” เปลือยเสน่หา,ร้อยเล่ห์เสน่หา,ปุจฉาประสาหญิง,Sexercise รักจานร้อน  งานเขียนเชิงบันทึก-บ้านริมทะเล(ใช้นามปากกา “Rose มาลี”)   “A Piece of Lover”- ชิ้นส่วนของความรัก(เขียนร่วมกับอุรุดา  โควินท์,ปรารถนา  รัตนะ-คนหลังล่วงลับแล้ว) ,

แนวชีวประวัติบุคคลมี 11 เล่มได้แก่ทำเนียบม่ายไฮโซ,ใต้ร่มชวนชม, ชีวประวัตินายแพทย์สังกาศ ทองบริสุทธิ์,ปรัชญาการบริหารงาน ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์,ปีกความฝัน:รพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์,ชีวประวัติคุณวิเชียร เผอิญโชค,มนุษย์สื่อสาร:ศรีภูมิ ศุขเนตร แนว How To-เคล็ดแต่งสวยสำหรับสาวอ้วน,เส้นทางสู่ดวงดาว 

นอกจากสุมิตรา จันทร์เงาเขียนคอลัมน์ให้หนังสือในเครือมติชนได้แก่ คอลัมน์“คนรักผัก” ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน คอลัมน์ “ Delight Movement” ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ท่องเที่ยว Paradise on Earth  ในเซ็คชั่น กิน-เที่ยว ของมติชนออนไลน์  ยังเขียนให้นิตยสารหญิงไทย คอลัมน์“ปุจฉาประสาหญิง” ใช้นามปากกา “รื่นรตี” ก่อนจะเปลี่ยนไปเขียนคอลัมน์ใหม่ชื่อ “รัก โลภ โกรธ หลง”

นามปากกาที่ใช้ นอกจากชื่อ-สกุลจริงและ”รื่นรตี” ก็มี“พิจิกา”และ “Rose มาลี” ผลงานประเภทหนึ่งที่สุมิตรา  จันทร์เงาเขียนไว้มากมายเป็นร้อยชิ้นคือสารคดีประวัติศาสตร์และสารคดีท่องเที่ยวในช่วงที่เป็นบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ซึ่งยังไม่ได้พิมพ์รวมเล่มอีกมาก

ชีวิตในการเขียนในช่วงหลัง  เธอบอกผมว่า อยากเขียนนวนิยายมากที่สุด ในเวลาต่อมาเธอก็ได้เขียนดั่งใจปรารถนา นั่นก็คือนวนิยายเรื่อง “ห้องชุดของปรารถนา” “ ส่วนงานเขียนอีกประเภทหนึ่งที่เธอสนใจอยากเขียนก็คือ…

“แหม่มอยากเขียนวรรณกรรมเยาวชน แหม่มชอบอ่าน เลยอยากเขียนถึงชีวิตตอนเด็ก”

สุมิตรา จันทร์เงาไปเขียนความฝันเป็นตัวอักษรอยู่บนสรวงสวรรค์ ด้วยภาษากวีอันพริ้งพรายเป็นเวลาร่วม 6 ปีแล้ว  แต่ผมยังรำลึกถึงเธออยู่เสมอ ยังไม่เคยบอกกับเธอว่า “พี่” รัก “น้อง”คนนี้เสมอมา รักในความเข้มแข็ง ความพากเพียร รวมทั้งความเป็นคนไม่ถือตัวและเสมอต้นเสมอปลาย

 

“ในท้ายที่สุด  มันไม่ใช่ว่าคุณมีอายุอยู่ถึงกี่ปี แต่มันคือ คุณได้ใช้ชีวิต“อย่างมีความหมาย” กี่ปี ในช่วงเวลาที่คุณมีชีวิตอยู่”(อับราฮัม  ลินคอล์น)