แก้วกานต์ กองโชค บริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เคยเป็นผู้นำในสินค้าเงินผ่อนในอดีต จนกลายเป็นสินค้ายอดฮิตของคนต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ตู้เย็น จักรเย็บผ้า พัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นต้น โดยเฉพาะรุ่นคุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย แต่ปัจจุบัน ลูกค้าเหล่านั้นเก็บสินค้าซิงเกอร์ ไว้เป็น “ของที่ระลึก” ประดับบ้าน บางแห่งนำไปตกแต่งร้านค้า โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านขายเหล้า มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังใช้สินค้าแบรนด์นี้ ซิงเกอร์ ก็ประสบปัญหาทางด้านการเงินเหมือนยักษ์ใหญ่อื่นๆที่ได้รับผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และประชากร” ก่อนหน้านี้ บริษัท ชาร์ป ยักษ์ใหญ่ทางด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น ได้ขายกิจการให้กับบริษัท หงไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี บริษัทยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน ด้วยเงินมูลค่าเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นรายนี้ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ซิงเกอร์ก็อาจจะกำลังกลายตำนานความสำเร็จสินค้าเงินผ่อน จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อหา New Business Model เหมือนสินค้าหลายอย่างในไทยเช่น โก๋แก่ ผงซักฟอก น้ำอัดลม ปัจจุบัน ณ วันที่ 16 ม.ค.2559 “ซิงเกอร์ประเทศไทย” อยู่ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของ กลุ่มเจ มาร์ท ของ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ด้วยสัดส่วน 24.99% โดยซื้อด้วยเงินมูลค่า 945 ล้านบาท จากกลุ่ม SINGER (THAILAND) B.V. บริษัทเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี (ตราสัญลักษณ์ซิงเกอร์อยู่คู่ไทยมากว่า 120 ปี) ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ประกอบด้วย บมจ.สหพัฒนา อินเตอร์ โฮลดิ้ง ถือหุ้น 2.09% กองทุนเปิด กรุงไทย ซีเล็คทีฟ อิควิตี้ ฟันด์ ถือหุ้น 2% บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ถือหุ้น 2% บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้น 1.30% ณัฐชาต คำศิริตระกูล ถือหุ้น 0.73% เป็นต้น แต่กำไรสุทธิของ 6 เดือนแรกของปี 2559 กลับปรับตัวลดลง เหลือ 81.26 ล้านบาท โดยในปี 2557 มีกำไรสุทธิ 241.43 ล้านบาท ในปี 2558 มีกำไรสุทธิ 143 ล้านบาท ดิ่งวูบกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนมีการคาดการณ์ว่า ในปีต่อไป อาจจะลดลงไปมากกว่านี้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยแผนปรับโครงสร้าง 5 โครงสร้าง 1) ปรับโครงสร้างพนักงานขาย 2) ปรับโครงสร้างการอนุมัติสัญญาเช่าซื้อ 3) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเก็บเงิน 4) ปรับโครงสร้างการบริหารสัญญาเช่าซื้อ 5) ปรับโครงสร้างระบบไอที โดยวางวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะเป็นบริษัทที่ขายสินค้าในครัวเรือนทุกชนิด และสินค้าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งจะเน้นให้บริการค้าปลีกแบบเช่าซื้อด้วยระบบที่ทันสมัย “นงลักษณ์ ลักษณะโภคิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “หัวใจของการขายตรง คือ การมีเซลล์เน็ตเวิร์คที่แข็งแรง วันนี้องค์กรมีข้อดีเหล่านั้น ฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะอยู่ในธุรกิจไม่ได้ เพราะว่าทุกคนต้องง้อช่องทางการขายของเรา” นั่นหมายความว่า ซิงเกอร์กำลังวาง Positioning ให้เป็น”หน้าร้าน” ของสินค้าทุกอย่างในประเทศไทย นับเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับ “จุดแข็ง” ของบริษัท แต่ยังมีคำถามว่า “จุดแข็ง” นี้ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่ออินเตอร์เน็ต เป็นหน้าร้านที่สำคัญของโลกไปแล้ว