การประชุม “กรอบความร่วมมือเอเชีย – ACD ที่กรุงเทพจบไปแล้ว แม้ว่าคนไทยจะไม่ค่อยรู้จักและเห็นความสำคัญของ ACD เท่าไรนัก แต่ความสำเร็จรอบนี้ก็ได้ส่งเสริมบทบาททางของประเทศไทยทางสากลอย่างมาก โดยเฉพาะการเสริมสร้างกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันออกกลาง
ประเทศไทยนับเป็นผู้ริเริ่ม ACD !
แนวคิด ACD ริเริ่มเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชีย
มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชีย ตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเป็นหลัก
วัตถุประสงค์ของ ACD คือ
1. การสนับสนุนประเทศเอเชีย เมือเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการ ประสานงานแจ้งเตือนล่วงหน้า
2. การสนับสนุนการพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุน ทางเลือกและทางออกด้านการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก ผลกระทบที่สิ่งแวดล้อมมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์
3. ความจำเป็นในการดำเนินการระดับประเทศ ภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อทั้งโลก
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ACD มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในมิติต่างๆ โดย ACD ได้ขยายสมาชิกภาพจาก 18 ประเทศก่อตั้ง เป็น 31 ประเทศจากทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย และมีการขยายกรอบสาขาโครงการซึ่งประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อน/ร่วม ขับเคลื่อน (Prime/Co-Prime Mover) ใน 20 สาขา
ไทย เป็นผู้ริเริ่ม ACD และได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้รับหน้าที่ ACD Coordinator อีกทั้งยังเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยว การเงินการคลัง และผู้ร่วมขับเคลื่อนสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้านหนึ่งด้วย
การดำเนินการภายใต้กรอบ ACD มี 2 มิติ ได้แก่
(1) มิติการประชุม ซึ่งประกอบด้วยการประชุมรัฐมนตรีประจำปี การประชุมรัฐมนตรีคู่ขนานกับ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติและการประชุมสุดยอด
(2) มิติกิจกรรมความร่วมมือ ปัจจุบัน มี 20 สาขา โดยประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นประเทศ ผู้ขับเคลื่อน / ร่วมขับเคลื่อน (Prime Mover/ Co-Prime Mover) ในแต่ละสาขาความร่วมมือ บนพื้นฐานของความสมัครใจ
สาขาความร่วมมือได้แก่ พลังงาน การเกษตร การลดความยากจน การเงินการคลัง การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อมศึกษา การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กองทุน โครงสร้างพื้นฐาน สถาบันด้านการจัดการมาตรฐานเอเชียเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างด้านกฎหมาย ความปลอดภัยบนท้องถนน การป้องกันภัยธรรมชาติ และความร่วมมือด้านวัฒนธรรม
ประเทศไทยให้ความสำคัญของความเชื่อมโยง (connectivity) ทั้งในระดับอนุภูมิภาค และการเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของเอเชียในระดับ people-to-people โดยการทำความรู้จักกันและกันให้มากยิ่งขึ้น