เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

พิธีกรรมการเมืองโลกเพิ่งผ่านไป 3 เวทีติดต่อกันในอุษาคเนย์ ที่พนมเปญ บาหลี กรุงเทพฯ  เป็นเวทีที่แสดงออกถึง “ความเชื่อ” เพื่อให้สิ่งที่แสดงสุนทรโวหารได้รับการตอบรับจากสมาชิกในเวทีที่ดูแล้ว ก็ไม่ได้ต่างจากพิธีกรรมทางศาสนาในโบสถ์ มีการสวดมนต์ มีการเทศน์

อยู่ที่ว่า ออกจากวัดจากโบสถ์แล้ว ยังจะปฏิบัติตามที่ได้ฟังได้สวดมนต์กัน หรือจะรอให้การประชุมคราวหน้าเหมือนพากันไปวัดไปทำบุญอีกครั้ง เปลี่ยนวัดเปลี่ยนสถานที่เท่านั้น แต่ก็เอาเรื่องเก่ามาเล่าความเดิมกันอีก อาจจะมีเจ้าอาวาสบางวัดที่มีอะไรใหม่นำเสนอ

อย่างกรณีที่ประชุมเอเปกที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ที่มีสูตรใหม่มาเสนอให้มีข้อตกลงร่วมกัน ที่เรียกว่า “BCG” ที่ย่อมาจาก “Bio-Circular-Green” หมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เสนอเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนายั่งยืน

โดยรวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม มีคำอธิบายว่า

“เศรษฐกิจชีวภาพ เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าที่มาจากทรัพยากรและวัตถุดิบชีวภาพที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป”

“เศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งให้เกิดระบบการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการ แบบฟื้นสร้าง วางแผนตั้งแต่การออกแบบระบบให้ความสำคัญกับการลดขยะและมลพิษ พยายามใช้วัตถุดิบซ้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

“เศรษฐกิจสีเขียวส่งเสริมพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบและแนวคิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสร้างผลกำไรไปกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม”

ในที่ประชุมเอเปก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขยายความพูดถึง “สามแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ  1) ส่งเสริมความยั่งยืน นำเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อน  2) สร้างธุรกิจที่สมดุล มีความรับผิดชอบ เข้าถึงแหล่งทุนเทคโนโลยีดิจิทัล  3) มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมิติใหม่ สร้างโอกาสทางธุรกิจ ท่ามกลางการฟื้นตัวของโรคระบาด”

ข้อมูลเหล่านี้เห็นได้ในเว็บไซต์ BCG และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ที่มีรายละเอียด เป็นทั้งผังทั้งภาพที่ดูดี แต่ก็มีความขัดแย้งในใจเมื่อได้อ่าน เพราะดูจะเป็นเพียง “ความคิดหวัง” (wishful thinking) และแปลงมาจากแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักหรือลืมไปแล้ว ชวนฝันได้ดีอย่างกรณีเศรษฐกิจสีเขียว

ที่จริง 3 เรื่องที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศพัฒนาเขาพูดและทำไปนานแล้ว เป็นเรื่องเก่าเอามาเล่าอีก ซึ่งคงไม่ได้ทำให้สมาชิกตื่นเต้นอะไร อาจจะชมที่รู้จักนำเสนอเป็นระบบได้ดี เป็นกรอบการทำงานร่วมกัน แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้ไปกว่าเสนอเพื่อให้สมาชิกเซ็นชื่อเป็นความตกลงร่วมกันก่อนแยกย้าย

คงไม่มีข้อสรุปเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ วัดได้ ประเมินได้ คล้ายกับการประชุมสุดยอดผู้นำในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการค้า และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประเด็นร่วมของประเทศสมาชิก

หลายอย่างคล้ายข้อตกลงของสหประชาชาติว่าด้วย “เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” (SDG - Sustainable Development Goals) ระหว่าง 2015-2030 ซึ่งผ่านมาครึ่งทาง มี 17 เป้าหมายหลัก เช่น กำจัดความยากจน, ความหิวโหย,สุขภาพและการอยู่ดีกินดี, การศึกษาที่มีคุณภาพ, ความเท่าเทียมทางเพศ, น้ำสะอาดและสุขอนามัย, พลังงานสะอาดและไม่แพง, งานที่เหมาะสมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ, อุตสาหกรรม, นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน, ลดความเหลื่อมล้ำ, รวมทั้งเรื่องอากาศ, น้ำ, สันติภาพและความยุติธรรม

บ้านเรามีใครยังจำได้ว่า SDG ที่นายกรัฐมนตรีไทยก็ไปร่วมเซ็นกับ 193 ประเทศที่นิวยอร์ก นั้นเป็นอะไร นำมาใช้ในการทำงานบ้างหรือไม่ แม้แต่สมัชชายูเอ็นก็เป็นอีกพิธีกรรมใหญ่ระดับโลกที่จัดทุกปี

การนำเสนอ BCG  ดูดีแต่ไม่มีเสน่ห์ ไม่มีพลัง เพราะผู้นำเสนอที่ขาด “ออร่า” มองหา “บารมี” ที่ส่งเปล่งประกายไม่ได้ ภาพลักษณ์ผู้นำทหารที่ยึดอำนาจเข้ามา ล้างหน้าล้างตาด้วยการเลือกตั้งสืบทอดอำนาจยังคงติดตรึง  การนำเสนอจึงดูแข็งกระด้าง อ่านสิ่งที่เทคโนเครตเขียนให้แบบไร้อารมณ์ เหมือนคนร้องเพลงไม่มี “อินเนอร์” ฟังอย่างไรก็ไม่เพราะ ไม่กินใจ

BCG คงมีพลังในการนำเสนอถ้ามาจากประสบการณ์ การปฏิบัติให้เห็นผล เพราะการพูดเรื่องข้าวโดยให้เห็นแต่ทุ่งนาที่ว่างเปล่า ดินแตกระแหง ร่ายยาวด้วยโคลงกลอนยังไงก็ไม่ทำให้คนรู้ว่า ข้าวเป็นอย่างไร ต่างจากคนที่พูดแล้วชี้ให้เห็นนาที่มีข้าวกำลังโต หรือกำลังออกรวง

 คนฟังทั้งฝรั่งต่างชาติและไทยคงมีคำถามในใจว่า รัฐบาลทำอะไรในเรื่องเหล่านี้ 8 ปีที่อยู่ในอำนาจ BCG ที่สวยงามก็เขียนกันมากว่าปีที่เตรียมประชุมครั้งนี้ มีผลอะไรพอที่จะอวดเขาได้ว่า เขียนแผนจากของจริง ไม่ใช่จินตนาการ ผ่านมาหลายปี จีดีพีโตแทบต่ำสุดในอาเซียน 

BCG อ้างการสร้างเศรษฐกิจสมดุล แต่ถูกแย้งด้วยโมเดลการพัฒนาที่เอาใจนายทุน ทำให้การผูกขาดแยบยลขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องเหล้าอย่างเดียวที่ไม่ยอมให้ปลดล็อกด้วยข้ออ้างแบบ “มือถือสากปากถือศีล”  ยังมีเรื่องพลังงาน เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างออกไปอีก

ไม่เห็นเอ่ยถึงเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น “ของจริง” ที่ได้รับการยกย่องจากยูเอ็น แต่ที่สุดก็ลืมกันไปหมดเริ่มจากไทย ที่เป็นที่กำเนิดของปรัชญานี้ ที่ไม่เอ่ยถึงคงเพราะกระดากปาก เนื่องจากรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ไม่ได้ทำ ไม่ได้นำมาเป็นฐานคิดฐานปฏิบัติจริงจัง

เพราะถ้าทำจริง บ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตย จะมีการกระจายอำนาจ กระจายรายได้ ไม่มีการผูกขาด  คนจะมีเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก เพราะ “พอเพียง” แปลว่า “พึ่งตนเองและมีความสุข”

นี่ต่างหากที่จะเป็น “ตัวร้อย” (cross-cutting) แผนงานที่มีพลังมากที่สุด เหมือนสายเลือดใหญ่ที่ให้ชีวิต ให้พลัง ตอบสนองหลังโควิดที่โลกหมุนกลับจากโลกาภิวัตน์มาสู่ “การพึ่งตนเอง” มากกว่าพึ่งโลก