แสงไทย เค้าภูไทย

ในการประชุมเอเปคที่ผ่านพ้น มีผู้นำหลายชาติกล่าวถึง เศรษฐกิจยั่งยืน โดยเรียกร้องความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกด้วยกันให้สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน เพื่อความเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ทำให้มีคำถามว่า เศรษฐกิจยั่งยืนหน้าตาเป็นอย่างไร ? ทำกันอย่างไร ?

เศรษฐกิจยั่งยืนหรือ Sustainable Economy ไม่ใช่คำใหม่และก็ไม่ใช่คำเก่า เป็นคำกลางเก่ากลางใหม่พอๆกับคำว่า  Digital Economy เศรษฐกิจดิจิทัล  Environmental Economics เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน

แต่ก็ใหม่กว่า Self-Sufficient Economy หรือ Sufficiency Economy เศรษฐกิจพอเพียง

ตามนิยามของเศรษฐกิจยั่งยืนก็คือการสร้างเศรษฐกิจที่มีความมั่นคง ยั่งยืน

โดยความยั่งยืนทางเศรษฐกิจนั้น หมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว โดยไม่เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ เช่นผลกระทบเชิงลบต่อสังคม วัฒนธรรมชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้รวมถึงการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (Environmental and Natural Capital) อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

เป็นการรวบยอดเศรษฐกิจรูปแบบอื่นๆเข้าด้วยกัน อย่างเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ก็เป็นการผลิตหรือมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

เศรษฐกิจหมุนเวียน ก็เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิตให้คุ้มค่าที่สุด โดยส่วนเหลือหรือส่วนเกินจากกระบวนการผลิต

ไม่ว่าจะเป็นของเหลือ เศษชิ้นส่วน จนถึงเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค สามารถนำมาใช้ใหม่หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้

มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอก (externalities) เชิงลบ 

เศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นส่วนย่อยหนึ่งของเศรษฐกิจยั่งยืน

ความพอเพียงคือแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้มีความพอเพียงทุกระดับ

เมื่อเศรษฐกิจมีสถานภาพพอเพียงทุกระดับ ไม่ขัดสนแร้นแค้น ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความเป็นสมดุลไม่เหลื่อมล้ำ ก็ถือว่าเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Development  เน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชนเป็นหลัก

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับกินเวลา 5 ปี ฉบับปัจจุบันนี้คือฉบับที่ 13 ประกาศใช้เมื่อ  1 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง ระยะเวลาครอบคลุม ปี 2566 ถึง 2570

สำหรับเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทยนั้น ไม่ได้เน้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ผ่านๆมา เพราะอยู่ในเนื้อหาครอบคลุมในส่วนหลักๆอยู่แล้ว

การจะให้ไทยเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนคงทำได้ยาก เพราะแม้แต่เศรษฐกิจพอเพียง ก็ยังไม่ค่อยพอเพียง ยังมีความเหลื่อมล้ำ ระหว่างระดับรายได้กันอยู่มาก ไม่ได้พอเพียงไปทุกระดับ ความเหลื่อมล้ำนั้น ไทยอยู่ระดับต้นๆของโลก

ทำให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืนกับเขาไม่ได้ ในเมื่อส่วนแบ่งส่วนเฉลี่ยความร่ำรวยการมีส่วนร่วมของมูลค่าแห่งชาติ( Nation’s Shared Values) ตกไปอยู่กับคนกลุ่มน้อยไม่กี่คน

ที่สามารถพิสูจน์ได้ก็คือ เศรษฐีมหาเศรษฐี เจ้าสัวไทย จำนวน 1% ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ แต่กลับถือครองความมั่งคั่งร่ำรวยเท่ากับประชากรที่เหลือทั้งประเทศรวมกัน