ยูร กมลเสรีรัตน์

สำนวนในการเขียนของนักเขียนหญิงระดับแถวหน้าผู้นี้ ที่เธอบอกว่าเป็นสำนวนห้าวเหมือนนักเขียนชายนั้น ถ้าใครรู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด  ก็ต้องประหลาดใจอย่างแน่นอน ใครจะเชื่อเล่าว่าทั้งที่เธอเป็นผู้หญิง แต่นวนิยายที่เธอชอบอ่านนั้น ล้วนเป็นแนวบู๊ โลดโผน  

“รสนิยมการอ่านไม่ดีเท่าไหร่ ชอบอ่านเรื่องบู๊เป็นชีวิตจิตใจ”เธอยอมรับในข้อนี้

โบตั๋นชอบอ่านเรื่องบู๊ ขนาดที่ว่านวนิยายกองเป็นตั้ง ๆ หลายสิบเล่ม เธออ่านจบมาหลายเรื่องแล้ว โดยเฉพาะนวนิยายกำลังภายใน

“อ่านเพื่อความบันเทิง  กำลังภายในชอบเรื่อง มังกรหยก  แปดเทพอสูรมังกรฟ้านี่ชอบมาก เพชรพระอุมา 50 เล่มก็อ่านจบมาแล้ว”

แต่ไม่ใช่ว่าเป็นนวนิยายกำลังภายในแล้ว เธอชอบหมด  จะเลือกเป็นบางเรื่องที่ชอบและใครเป็นคนเขียนด้วย...

“ จะชอบของกิมย้ง บู๊หน่อย แต่มีเนื้อเรื่องค่อนข้างนุ่มนวลกว่า  ยอมรับว่าไม่ค่อยชอบโกวเล้งเหมือนคนอื่น เอาแต่เล่นสำนวน โกวเล้งจะเล่นสำนวนมาก  ยืดยาด  จนบางทีรำคาญ จะชอบกิมย้งมากกว่า  ” 

โบตั๋น ในบทบาทของสุภา สิริสิงห เคยทำงานที่หนังสือชัยพฤกษ์ของบริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ยุคอนุช  อาภาภิรม(ผู้เขียน “โลกของหนูแหวน”) เป็นบรรณาธิการ แล้วลาออกไปทำงานที่สตรีสาร ดูแลหน้าสตรีสาร ภาคพิเศษ ซึ่งแทรกอยู่ตรงกลางเล่ม ให้เด็กและเยาวชนได้อ่าน เหมือนเป็นของแถมพิเศษ

จากประสบการณ์ในการทำงานทั้งสองแห่งนี้เอง  นำไปสู่การตั้งสำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์นหรือรู้จักกันในนามสำนักพิมพ์ชมรมเด็กกับสามีคือวิริยะ  สิริสิงห(ล่วงลับแล้ว) เจ้าของนามปากกา “โอภาส อาจอารมณ์” นักเขียนและนักทำหนังสือเด็กที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง  โดยเริ่มจากเงินทุนที่ยืมแม่แปดพันบาท ใช้บ้านเป็นสำนักพิมพ์

จากชื่อเสียงในนามโอภาส  อาจอารมณ์  ซึ่งคุมคอลัมน์เกี่ยวกับเด็กที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาก่อน ทำให้ชื่อของชมรมเด็กเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนอ่าน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ครู-อาจารย์

และบรรณารักษ์  จึงทำให้ชมรมเด็กเติบโตตามลำดับ โดยวิริยะ สิริสิงเป็นคนดูแล  ส่วนโบตั๋นทำหน้าที่เขียนหนังสืออยู่ชั้นบนสุดของสำนักพิมพ์

นอกจากนวนิยายของโบตั๋นจะนำมาพิมพ์รวมเล่มเองแล้ว  เธอยังเขียนและแปลเรื่องสำหรับเด็กป้อนให้สำนักพิมพ์ของตัวเอง  จากสำนักพิมพ์ที่เป็นตึกแถวเล็ก ๆ คูหาเดียวในซอยประชาอุทิศ  บางมด  ปัจจุบันสำนักพิมพ์ชมรมเด็กเจริญรุ่งเรือง  มีตึกใหม่ใหญ่โตตั้งห่างจากที่เดิมเลยเข้าไปข้างในอีก แถวทุ่งคุรุ ย่านบางมด

หลังจากนวนิยาย เรื่อง “ความสมหวังของแก้ว”ลงสตรีสาร  เธอก็หยุดเขียนไปอีกเป็นเวลานานหลายปี  จึงกลับมาเขียนนวนิยายเรื่อง “แวววัน” ซึ่งใช้ฉากบ้านสวน ไม่ใช่นวนิยายอ่านสนุก แต่เป็นนวนิยายที่มีคุณค่า ให้ข้อคิดและทัศนคติหลายอย่าง  นวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

ชื่อของโบตั๋นหายไปจากนิตยสารสตรีสาร ซึ่งเป็นสนามประจำของเธอช่วงหนึ่ง จึงกลับมาอีกครั้งด้วยนวนิยายเรื่อง “ไผ่ต้องลม” ซึ่งเป็นบันทึกของคนจีนคนหนึ่งมอบให้เธอเขียน  นวนิยายเรื่องต่อมาคือ“ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด”นวนิยายเรื่องนี้คนอ่านสตรีสารให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น  เมื่อพิมพ์รวมเล่ม ก็ได้รับรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และดังกระฉ่อน เมื่อนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7

แล้วโบตั๋นก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านอีกครั้ง เมื่อนวนิยายเรื่องต่อมาคือ “ทองเนื้อเก้า”ตีพิมพ์ในสตรีสาร  เธอเล่าว่านวนิยายเรื่องนี้มีจุดกระทบเพียงนิดเดียว ตอนเดินออกไปปากซอยแถวบ้านในตอนเช้า  เห็นเณรออกมาบิณฑบาต หน้าตาแจ่มใส มีสง่าราศี

“เขาดูดีมาก ตอนเขายังไม่บวช  หน้าตาเศร้า อมทุกข์ไม่มีความสุข  เรารู้ว่าแม่เขาสำส่อนแบบอีลำยองนั่นแหละ ลูกพ่อไหนต่อพ่อไหนล่อกันให้นัวเชียว ไปเห็นแค่นั้นเอง  เราดูแล้ว เรื่องนี้น่าเขียน ก็เอามาแต่ง แต่งเติมจินตนาการเข้าไป ผูกเรื่องเข้าไปให้สนุก ให้คนติดตาม”

โบตั๋นเป็นนักเขียนหญิงที่เขียนเรื่องสมจริง ไม่ใช่เรื่องพาฝันหรือเรื่องโรแมนติก  เธอยอมรับว่าไม่ถนัดเขียนเรื่องโรแมนติกหรือเรื่องกระจุ๋มกระจิ๋ม  เธอบอกว่า ถ้าจะอ่านเรื่องของโบตั๋นจะต้องทำใจ  เพราะเป็นเรื่องสมจริงที่ค่อนข้างโหดในสังคม  ซึ่งนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมจะประทับใจนานกว่าแนวสุขนาฏกรรม ดังที่เธอบอกเล่าว่า...

“ เขียนเรื่องหนัก ๆ ต้องเขียนให้มันถึงแก่น เรื่องที่มันหดหู่สุดขีด คนอ่านจะจำได้ เขียนให้เขาอ่านแล้วสะเทือนใจสุดขีด คนที่ชอบเรื่องแนวนี้ เขาจะอ่านเอง”

เธอขยายความต่อว่าคนอ่านมีหลากหลาย บางคนไม่ชอบอ่านเรื่องจุ๋มจิ๋ม โรแมนติก  แต่ชอบอ่านเรื่องหนัก ๆ หดหู่  สำหรับเรื่องหดหู่ที่สุดของโบตั๋น คงจะเป็นนวนิยายเรื่อง“เหยื่อ” ซึ่งการที่นักเขียนหญิงผู้นี้เขียนเรื่องหนัก ๆ ให้คนอ่านติดตามอ่านได้  ย่อมแสดงให้เห็นว่าเธอมีความสามารถสูง

 นักเขียนหญิงระดับแถวหน้าผู้นี้ออกตัวว่า เธอไม่ใช่นักเขียนมีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงขั้นผลงานขายดิบขายดี  ผมว่าเธอถ่อมตัวมากกว่า  ผมเคยไปเยี่ยมและพูดคุยกับวิริยะ สิริสิงห ค่อนข้างบ่อย จึงพอรู้ว่านวนิยายเรื่องไหนขายดี อย่าง “สุดแต่ใจจะไขว่คว้า” ยอดพิมพ์สูงถึง  5 หมื่นเล่ม “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” 8 หมื่นเล่ม เพราะเป็นหนังสือนอกเวลาด้วย  นวนิยายของโบตั๋นทุกเรื่องพิมพ์ครั้งแรก เริ่มต้นที่ 6  พันเล่ม ไม่ใช่ 3 พันเล่มอย่างที่พิมพ์กันทั่วไป

ผลงานของโบตั๋น โดยเฉพาะนิยาย ส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักของคนอ่านได้แก่ จดหมายจากเมืองไทย แวววัน  ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ทองเนื้อเก้า เหยื่อ บัวแล้งน้ำ  กว่าจะรู้เดียงสา  ตะวันชิงพลบ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า  ก่อนสายหมอกเลือน  สวนสวรรค์ และไผ่ต้องลม ฯลฯ 5 เรื่องหลังได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ส่วนผลงานเรื่องสั้นมีพิมพ์รวมเล่มเพียงไม่กี่เล่ม คือ แก้วสามดวง  คืนเหงา  รักวัวให้ผูก  รักลูกให้...  และ ฟ้าชอุ่มฝน  นอกนั้นเป็นเรื่องสำหรับเด็กที่แปลและเรียบเรียงมาจากต่างประเทศ  ใช้นามปากกา “ปิยตา   วนนันท์”และ “ปิยตา”ได้แก่ ลูกไก่แสนสวย  เค้าโมงสู้โลก  บ้านน้อยในโพรงไม้  ตะเภานักโม้  นกบินไม่ได้  ระแวงไพร เป็นอาทิ

โบตั๋นเขียนนวนิยายให้สตรีเป็นสนามหลัก เพราะมีความผูกพันกันเหนียวแน่นตั้งแต่ผ่านทำงานที่นี่ เธอจะรับเขียนนวนิยายให้นิตยสารฉบับอื่นที่มาติดต่อ โดยรวมกับสตรีสารแล้วไม่เกิน 3 ฉบับและไม่ชอบเขียนยาวยืดยาด  เธอเปิดใจเกี่ยวกับผลงานของตัวเองว่า...

“ยังไม่พอใจผลงานของตัวเองแม้แต่เรื่องเดียว  มีเรื่องที่ค่อนข้างพอใจอยู่บ้าง  ความสมหวังของแก้ว  กว่าจะรู้เดียงสา  ทองเนื้อเก้า  ก่อนสายหมอกเลือน”

ก่อนหันหลังให้วงการน้ำหมึก โบตั๋นเขียนวนิยายที่นิตยสารขวัญเรือนเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เธอคิดไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งภาระทางครอบครัวลดลง  อยากจะเขียนเรื่องที่ตัวเองพอใจสักเรื่องหนึ่ง เพราะช่วงนั้นเมื่อประมาณปี 2547 ต้องดูแลสำนักพิมพ์ช่วยสามีที่ป่วยเกือบเต็มตัว

จากการสร้างสรรค์ผลงานมาเป็นเวลายาวนาน  โบตั่นได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2542นั้น และได้รับรางวัลนราธิปจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเมื่อปี  2564  ครั้งที่ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ  เธอกล่าวออกตัวอยู่บ่อยครั้งที่ได้รับเชิญว่า

“การได้ศิลปินแห่งชาติ มันดูยิ่งใหญ่เกินตัว  ไม่คิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน เป็นเพียงคนเดินดินธรรมดาคนหนึ่ง  ไม่คิดว่าตัวเองมีความสามารถขนาดนั้น”

โบตั๋นมีความสามารถหรือไม่  สิ่งที่เป็นประจักษ์แก่สายตาของคนอ่านก็คือ ผลงานที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน ล้วนเป็นผลงานที่โดดเด่นและมีคุณค่าแก่การอ่าน

โบตั๋นวางปากกาเป็นเวลา 5-6  ปีแล้ว นวนิยายเรื่องสุดท้ายคือ “เดนมนุษย์”ตีพิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือนและไม่ได้เขียนหนังสืออีกเลย  เพราะสุขภาพไม่อำนวย รวมทั้งวางมือจากสำนักพิมพ์ของตัวเอง ให้ลูกสาวคนโต-สุวีริยา สิริสิงห เป็นผู้สืบทอดต่อ

ในวัย 78 ปีของนามปากกา “โบตั๋น” คือช่วงเวลาของการพักผ่อนและมีความสุขกับลูกหลาน  หลังจากคร่ำเคร่งและเหน็ดเหนื่อยกับการเขียนมาตลอดชีวิต

         

“ถ้าไม่ประมาท ก็จะไม่เกิดความเสื่อม”(สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)