นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทั่งได้ยุติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.)ไปแล้วนั้น

วันนี้น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghrebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีหนังสือส่งตรงถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ระบุถึงความคืบหน้าที่ WHO ได้เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศจากทั่วโลกในและเป็นประเทศเดียวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดำเนินโครงการกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review : UHPR) และถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือวิกฤติโควิด-19

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้ชื่นชมประเทศไทยต่อการดำเนินงานที่เป็นจุดเด่นของไทยซึ่งได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้ช่วยเหลือคนไทยและผู้อาศัยในประเทศไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ การมีระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้ระบุว่าจากการนำเสนอการดำเนินงานของประเทศไทยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่อนามัยโลก ( World Health Assembly :WHA) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับและสนใจจากสมาชิกของ WHO เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ขณะนี้ตัวอย่างของประเทศไทยถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือแนะนำที่สมาชิก WHO จะนำไปปรับใช้การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโลกอุบัติใหม่

“ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้ส่งหนังสือลงลายมือด้วยตนเองถึงนายอนุทินถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามกลไก UHPR ที่ขณะนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ WHO กำลังจัดทำคู่มือและปรับปรุงข้อแนะนำที่ได้จากกลไก UHPR และขอให้ประเทศไทยยังคงร่วมโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิก WHO และคนทั่วโลกต่อไป”

แต่ในขณะเดียวกัน ต้องอย่าลืมหันกลับไปดูแลจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนดังกล่าว เนื่องจากช่วงเวลาที่โควิดระบาดมานานกว่า 3 ปี กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีสถานการณ์ภาวะหมดไฟ (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ จากปี 2563 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ปี พ.ศ. 2564 ค่าเฉลี่ยร้อยละ 4.7 และพุ่งสูงถึงร้อยละ 12.2 ในปี 2565

จากสถานการณ์ทั่วประเทศ พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาครัฐ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งสิ้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 910 ราย ได้รับการดูแลติดตามต่อเนื่องในระบบสาธารณสุขแล้ว จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้มีความเสี่ยง

ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์เหมือนเป็นฮีโร่ เป็นนักรบด่านหน้าที่ต่อสู้กับโควิด-19 ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกองคาพยพ ต้องหันกลับไปดูแลเยียวยาบาดแผลให้นักรบในเชิงรุก ในทุกบริบท แม้สงครามจะยังไม่จบก็ตาม