รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

จากสถานการณ์เงินเฟ้อและสินค้าแพงทั่วแผ่นดิน ส่งผลให้คนไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สืบเนื่องจากรายได้กับรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน ดังจะเห็นจากตัวเลขการเปิดรับลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” รอบใหม่ในปี 2565 พบว่า “คนจน” ในประเทศไทยเพิ่มเป็น “20 ล้านคน” หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ทำให้หลายฝ่ายมีความวิตกต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่นับวันจะยิ่งห่างกันมากขึ้น 

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ของแพง” กับ “คนจน” โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์จำนวนทั้งสิ้น 1,067 คน ระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2565 

ผลการสำรวจที่สำคัญ พบว่า รายได้ของประชาชนไม่เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 54.54 เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 45.46 โดยสินค้าที่
คิดว่า “แพง” เกินกว่าที่จะรับได้ อันดับ 1 คือ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ร้อยละ 82.96 รองลงมาคือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ 71.19 และแก๊สหุงต้ม ร้อยละ 66.38 อาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง ร้อยละ 53.67 และวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ร้อยละ 52.64 

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือ ควบคุมราคาสินค้า ลดราคาสินค้า ร้อยละ 85.73 ลดภาษีน้ำมัน ร้อยละ 68.43 นำเสนอข้อมูลความจริง ไม่ปิดบัง ร้อยละ 56.52 จัดโครงการสินค้าราคาถูกช่วยเหลือประชาชน ร้อยละ 54.35 และเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น คนละครึ่ง ช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ 52.36

กรณี “คนจน” เพิ่มเป็น 20 ล้านคน มองว่าเพราะของแพงทำให้คนมีเงินไม่พอใช้ ร้อยละ 80.38 รองลงมาคือ คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ ร้อยละ 74.72 จำนวนเงินเท่าเดิม ซื้อของได้น้อยลง ร้อยละ 70.47 คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 67.64 และเศรษฐกิจไม่ดีเป็นเวลานาน ร้อยละ 65.57

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ คือ สร้างโอกาส สร้างรายได้ เน้นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว ร้อยละ 78.32 รองลงมาคือ ควรแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร้อยละ 77.19  ยอมรับและหาต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง ร้อยละ 66.54 ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ร้อยละ 63.15 และเพิ่มสวัสดิการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพ ร้อยละ 59.10

ในภาพรวมประชาชนคิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะแก้ปัญหา “คนจน” ได้ ร้อยละ 77.32 ส่วนปัญหา “ของแพง” ก็ไม่น่าจะแก้ไขได้เช่นกัน ร้อยละ 59.23

จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลข้างต้นประกอบกับใกล้เวลาการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ปี 2566 ประเด็นที่นักการเมืองจะต้องไม่มองข้ามอย่างมีนัยสำคัญที่น่าจะส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง คงเป็นเรื่องที่ประชาชนสะท้อนถึงของแพง โดยประชาชนคิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะแก้ปัญหา “คนจน” และ ปัญหา “ของแพง” สำเร็จ

เช่นนี้แล้วก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 ฝ่ายกุนซือหรือสมองของพรรคการเมืองต่าง ๆ ถ้าสามารถสร้างนโยบายแก้ไขปัญหาคนจนและข้าวของแพงแบบ “เป็นจริง ไม่ขายฝัน” แล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะได้ใจคนจนไปครองทั้งแผ่นดินที่มีมากถึง 20 ล้านคนให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างสบาย ๆ  เมื่อปรียบเทียบกับจำนวน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศราว ๆ 52 ล้านคน (ข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต.ค. 2564)

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหันมาส่องประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่าง “มาเลเซีย” นับว่าไทยเราถดถอยกว่าแล้วในเชิงรายได้ประชากร เนื่องจากประเทศไทยติดกับดับประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางมายาวนานกว่า 30 ปี ขณะที่มาเลเซีย ก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Nation) ไปเรียบร้อยแล้ว โดยข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรมาเลเซียต่อหัวล่าสุดปี 2565 เท่ากับ 13,268 ดอลลาร์ เข้าหลักเกณฑ์ของธนาคารโลก ซึ่งมาเลเซียทำสำเร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าถึง 3 ปี “ปี 2568 มาเลเซียจะก้าวขึ้นเป็นประเทศไฮเทคและประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง”

หากประเทศไทยอยากปลดแอกความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่น ๆ ก็ต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มุ่งนโยบายสร้าง เพิ่ม และกระจายรายได้ให้กับแรงงาน โดยเน้นเศรษฐกิจเข้มแข็งเพื่อสยบปัญหาอื่น ๆ  

หวังมากแต่คงไม่มากเกินไปว่า...ขอให้ปัญหาเรื่อง “ของแพง"...ปัญหาที่พูดได้ตลอด!” ให้มันจบ ๆ ลงตรงที่ “รุ่นของเรา” ไม่ทิ้งภาระเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง...ท่านผู้อ่านเห็นด้วยมั้ยครับ...