เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

สังคมไทยไม่มีทางไปไหน ถ้าไม่รื้อระบบการศึกษา เพราะที่เป็นอยู่ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ล้วน “พอกะเทิน” หรือครึ่งๆ กลางๆ จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องคิดว่า ยังไปได้ ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว ประเทศพัฒนาต่างก็รื้อระบบการศึกษาแบบโบราณ เพื่อจัดการศึกษาที่รับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้

โลกไม่ได้เปลี่ยนแบบเส้นตรง (linear change) แต่เปลี่ยนเต็มรูปแบบ (transformation) แบบหักโค่น ถึงรากถึงโคน (radical) เร็วแบบหน้ามือเป็นหลังมือ (disruptive) จึงไม่ควรเรียกว่า การเปลี่ยนหรือแม้แต่การปฏิรูป แต่ต้อง “ปฏิวัติ” ระบบการศึกษาเลยทีเดียว

อยากนำเสนอ 3 ประเด็น คือ การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาบูรณาการกับการพัฒนาประเทศ

เมืองไทยมีสถาบันอุดมศึกษารัฐ 120 กว่าแห่ง เอกชน 70 กว่า เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในกำกับ 22 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง วิทยาลัยอาชีวะ 23 แห่ง และอื่นๆ รองรับนักศึกษาใหม่ที่จบมัธยมปลายประมาณ 8 แสนคน ที่ลดลงมาหลายปีต่อเนื่อง

แต่ทุกอย่างยังเป็นไปตามเดิม ทั้งๆ ที่มองเห็นมากว่าสิบปีแล้วว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัย “เกรดบี-ซี” ลดลง ขณะที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย “เกรดเอ” ยังเท่าเดิม เพราะเด็กแห่กันไปสมัครและเข้าได้ง่ายขึ้น ไม่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล อาชีวะ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนคงอาการหนักพอกัน

เข้าใจกันทั่วโลกว่า อนาคตของสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่หมดไปตั้งนานแล้ว ไม่ว่าเกรดไหนก็คงไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน ของรัฐอยู่ได้ด้วยงบประมาณที่รัฐยังให้ทุกปี ที่หาได้เองลดลง ไม่ว่าค่าเทอมปกติหรือหลักสูตรพิเศษที่หาคนเรียนยากขึ้น จนหลายหลักสูตร ป.โท ป.เอก ต้องปิดตัวลง

สาเหตุที่นักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาน้อยลง นอกจากประชากรเกิดใหม่ที่ลดลง ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สินครัวเรือน แม้มีกองทุนให้กู้ยืม แต่เมื่อเรียนแล้วหางานทำไม่ได้ ก็ไม่มีแรงจูงใจให้ไปเรียนเพื่อเอาปริญญามาแขวนข้างฝาดูเล่น

มีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนบางแห่งที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ได้เงิน ได้ความรู้ ได้งานทำ แล้วทำไมสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทำเช่นนั้นไม่ได้  ไม่ใช่ปัญหางบประมาณ แต่ปัญหาของระบบคิด หรือ mindset ที่ทำให้อยู่ในโซนสบาย ไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก  ถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำได้ เพราะมีสถาบันอาชีวะหลายแห่งที่ร่วมมือกับภาคธุรกิจ เพื่อผลิตแรงงานไปทำงาน เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย

แล้วทำไมสถาบันอื่นๆ ไม่ทำ กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็ก้มหน้าก้มตาควบคุมอย่างคับแคบ ให้เป็นไปตามแบบแผนระเบียบโบราณ นอกจากไม่ส่งเสริมสนับสนุน ยังเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ อ้างแต่เพื่อรักษา “คุณภาพ” แต่คุณภาพที่ไม่ตอบสนองความต้องการของชีวิตและสังคมมีประโยชน์อะไร

ประเด็นที่สอง การศึกษานอกระบบ  มีผู้ใหญ่กว่า 10 ล้านคนในวัยแรงงานที่ต้องการ “การศึกษา” ในแบบที่เรียนแล้วทำให้ประกอบอาชีพเก่าดีขึ้น หรือริเริ่มงานใหม่ได้ แล้วทำไมจึงคิดว่า “กศน.” เท่านั้นควรดูแลการศึกษานอกระบบ ทั้งๆ ที่สถาบันอุดมศึกษา 200 แห่งสามารถจัดหลักสูตรระยะสั้นยาวเพื่อคนเหล่านี้ได้

ถ้ามีวิสัยทัศน์ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมบนฐานความรู้ ที่อาศัยเศรษฐกิจฐานความรู้ ก็ควรมองให้ไกลเหมือนนายเดวิด บลังเคตต์ รัฐมนตรีตาบอดของรัฐบาลโทนี แบลร์ แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่เสนอการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ให้คนที่กำลังทำงานได้มาเรียนรู้ใหม่ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่จบอุดมศึกษา เพื่อพร้อมที่จะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

รัฐบาลโทนีแบลร์ประกาศว่า “ถามผมว่า 3 อย่างที่สำคัญที่สุดในรัฐบาลผมคืออะไร ผมจะตอบว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา” และเขาก็ทำเช่นนั้นจริง

ขณะที่ประเทศไทย ไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนกล้าหาญพอที่จะประกาศ “ปฏิวัติ” การศึกษา พูดแค่คำว่าปฏิรูป แต่ก็ไม่ได้เห็นหน้าเห็นหลังอะไร นักการเมืองมองเห็นกระทรวงนี้เป็นเกรดบี เกรดซี มีประโยชน์บ้างก็ตอนเลือกตั้ง มีครูเป็นหัวคะแนนให้ แต่รายได้อย่างอื่นไม่มีทอนมาเป็นกอบเป็นกำ

นอกนั้น ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไกลเพียงปลายจมูก มองไม่เห็นว่า เมื่อสังคมโลกเปลี่ยนไป ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาให้ทันโลกอย่างไร กระทรวงยังใช้อำนาจ “สั่งการ” มากกว่า “ส่งเสริม” นักการเมืองยังหาเสียงแบบประชานิยม คิดแต่ว่าถ้าพูดเรื่องปากท้องจะได้เสียงได้คะแนน โดยไม่คิดว่า ถ้าจัดการเรียนรู้ที่  “มีงานทำทันที” “การศึกษาที่กินได้” จะสร้างรากฐานใหม่ให้สังคม และแก้ปัญหาความยากจน หนี้สินได้

ประเด็นที่ 3 คือ การปฏิวัติการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อคิดแบบบูรณาการเท่านั้น ไม่ใช่แยกส่วน ทอนกำลังตัวเอง แม้มีคณะกรรมการมากมาย แต่ละกระทรวงส่งคนมาพบกันในที่ประชุม กลับไปก็ตัวใครตัวมันเหมือนเดิม แม้แต่กรมต่างๆ ในกระทรวงเดียวกันยังสร้างกำแพงมากกว่าสะพาน

การศึกษาไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ ถ้าสัมพันธ์กับชีวิต ด้วยกลไก แพลตฟอร์มและระบบเครือข่าย ที่เชื่อมโยงกันทุกด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ก็จะได้การเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ ที่มีฐานความรู้ ฐานกำลังคนที่มีทักษะในการทำงานจริง

การปฏิวัติการศึกษาต้องมาจาก “ข้างใน” และ “ข้างล่าง” ทั้งระบบการศึกษาภายในสถาบัน และต้องไม่ละเลยการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีความรู้และคุณธรรม ให้ได้เรียนไม่เพียงแต่วิชาทำมาหากิน แต่วิชาการจัดการชีวิต พัฒนาจิตใจ ไม่ละเลยวิชามนุษยศาสตร์ ให้ได้เรียนศิลปะ ดนตรี กีฬา ภาษา วัฒนธรรม

ขาด “มนุษยศาสตร์” คนจะกลายเป็นเพียง “สัตว์เศรษฐกิจ” ที่มีแต่จะครอบงำทำกำไรเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า เหมือนที่สังคมเป็นอยู่ทุกวันนี้ในทุกระดับ ในประเทศและระหว่างประเทศ

ปฏิวัติการศึกษาให้เกิดผลต้องมาจาก “ข้างล่าง” ขาดชุมชนเข้มแข็งด้วยการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ สังคมก็ขาดฐานรากที่มั่นคง