ปิดลงทะเบียนไปแล้วสำหรับ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 โดยมีประชาชนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 จำนวน 22,293,473 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น.) ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า โครงการดังกล่าวถูกนำไปเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง กล่าวหาว่ารัฐบาลภาคภูมิใจที่มีคนจนเยอะ
มีความพยายามอธิบายในเรื่องนี้ จาก น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า จำนวนลงทะเบียนหรือผู้ที่ได้รับ “บัตรสวัสดิการ” ไม่ใช่จำนวนคนจนในประเทศไทย แต่เป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการเข้าไปช่วยดูแลลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น เป็นหนึ่งในนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นวาระสำคัญของชาติที่ไม่ใช่คนจนทั้งหมด เพราะทุกรัฐบาลมีเส้นเกณฑ์วัดความจน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีการวิเคราะห์หลายมิติ ซึ่งในปี 2564 ระบุว่าประเทศไทยมีคนจนอยู่ที่ 4,404,616 ล้านคน คิดเป็น 6.32 % ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ เกณฑ์ตัดสินว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายจนหรือไม่จนในปี 2564 คือรายได้ต่อเดือนที่ต้องได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อคน/ต่อเดือน และหากพิจารณาข้อมูลย้อนไป 10 ปีจากสถิติ ยังพบว่า ในปี 2555 ยังมีคนจนอยู่ถึง 8,441,462 คน
พร้อมกับเผยผลงานในระหว่างปี 2560-2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมุ่งมั่นแก้ปัญหาคนจนโดยใช้ Big data และระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบชี้เป้า โดยอ้างอิงฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) โดยข้อมูลการสำรวจนี้จะแตกต่างจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นการนำข้อมูลคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาตรวจสอบและลงพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจสอบถามถึงความรุนแรงของปัญหาตามเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของกระทรวงมหาดไทย เช่น ในปี 2560 พบมีคนจน 1,702,499 คน จากการสำรวจ 35,999,061 คน และล่าสุด “คนจนเป้าหมาย” ณ วันที่ 25 ม.ค. 2565 ในประเทศไทย ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเหลือเพียง 1,025,782 คน จากการสำรวจ 36,103,806 คน และเมื่อแบ่งมิติปัญหาที่ต้องช่วยเร่งด่วนพบว่า 1. ด้านสุขภาพ 218,757 คน 2. ด้านความเป็นอยู่ 220,037 คน 3. ด้านการศึกษา 272,518 คน 4. ด้านรายได้ 506,647 คน 5. ด้านเข้าถึงบริการภาครัฐ 3,335 คน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะสถิติจากตัวชี้วัดใดทั้ง สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ TPMAP จำนวนคนจนได้ลดลงต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงการแก้ปัญหาความยากจนภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่าจำนวนลดลงไปหลายล้านคน
ดังนั้นจากยอดการลงทะเบียน 22,293,473 ราย ที่ยื่นลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 จึงไม่ใช่จำนวน ‘คนจน’ ทั้งหมด แต่ด้วยเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี หรือแม้แต่ผู้มีบ้าน มีวงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และมีเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ แต่หากรัฐบาลเลือกใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฑ์ กำหนดรายได้ 33,624 บาท/คน/ปี หรือ 2,802 บาทต่อคน/ต่อเดือน จะทำให้การลงทะเบียนมีจำนวนลดลงทันที
เราเห็นด้วยที่ไม่ควรตีตรา ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่าเป็น “คนจน” เพราะเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องให้การดูแล ให้พวกเขามีสวัสดิการและมีศักดิ์ศรี ลดเหลื่อมล้ำ ฉะนั้นควรถึงเวลาวาทกรรมบัตรคนจน