ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร กมลเสรีรัตน์

ขณะที่โบตั๋นเขียนนวนิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” เธอมีอายุ  23 ปีเท่านั้น  เมื่อนวนิยายเรื่องนี้เผยแพร่ออกไปสู่คนอ่าน เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง  คนเข้าใจว่าเป็นผู้ใหญ่เขียน บางคนเข้าใจว่าเป็นผู้ชาย เพราะมีเนื้อหาเข้มข้น สำนวนห้าวเจือดุดันเหมือนนักเขียนชาย

สมัยนั้นเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ประเทศไทยยังด้อยพัฒนาในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความคิดทางการเมือง นวนิยายเรื่องนี้จึงมีผลกระทบรุนแรงมาก  จนนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เขียนวิจารณ์ ไล่ให้ไปอยู่จีนแดง

“เขาคิดว่าเป็นผู้ชาย  เขาว่า อีตาคนนี้ไปอยู่กับเมาเซตุงซะ”

กระแสแรงขนาดนี้ จึงมีผลกระทบต่อจิตใจของเด็กสาววัยเพียง  23 ปี ที่มีความตั้งใจจริงใน

การถ่ายทอดเรื่องราวในรูปของจดหมาย สะท้อนให้เห็นถึงสังคมและค่านิยมของคนไทย ซึ่งในยุคนี้สังคมและค่านิยมในด้านต่าง ๆ ของคนไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากยุคนั้น

ดังตอนหนึ่งของจดหมายที่ตันส่วงอู๋ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ข้ามน้ำข้ามทะเลหนีความแร้นแค้นมาอาศัยอยู่เมืองไทย เขียนจดหมายบอกเล่าเรื่องราวในเมืองไทยที่ตนประสบในเมืองไทยถึงผู้เป็นแม่ที่จีนแผ่นดินใหญ่อย่างละเอียดถึงร้อยฉบับ เปรียบได้กับกระจกเงาสะท้อนความจริงของเมืองไทยในทุกแง่มุม....

“ในเมืองไทยเขานับถือแผ่นกระดาษยิ่งกว่าความรู้ แผ่นกระดาษที่พ่อว่านี้คือใบรับรองว่าเจ้าเรียนจบมาจากสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง ถ้ามีของสถานศึกษาที่มีชื่อ เจ้าก็จะหางานง่าย...เขามักจะเข้าใจผิดว่าประกาศนียบัตรสำคัญยิ่งกว่าความรู้ ลูกต้องปรับตัวของลูกเข้ากับพวกนี้ให้ได้”

นี่แค่ข้อความตอนหนึ่งในนวนิยายเรื่อง“จดหมายจากเมืองไทย” ที่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น แล้วเรื่องราวทั้งเรื่องที่วิจารณ์เมืองไทยและนิสัยของคนไทยในแง่ต่าง ๆ มามาย อันเป็นปัญหาวัฒนธรรมไทย-จีน  เหมือนกับตบหน้าคนไทยอย่างจัง ทำให้ยอมรับความจริงไม่ได้ จึงมีกระแสต่อต้านอย่างหนักหน่วง ดังที่เกริ่นนำไว้นั่นเอง

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทำให้โบตั๋น หยุดเขียนหนังสือเป็นเวลาปีกว่า  ภายหลังเรื่องกลับตาลปัตร  เมื่อคนมารู้ความจริงว่าเป็นผู้หญิงเขียน อายุแค่ 23  ปีเท่านั้น  ปฏิกิริยาที่มีต่อเธอจึงเปลี่ยนไป  ได้รับการติดต่อเชิญให้ไปพูดเรื่องชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย  แต่เธอปฏิเสธ ดังที่เธอบอกเล่า

“เขาพยายามดึงเราเข้าหาการเมือง  เราเขียนถึงปัญหาสังคมและวัฒนธรรมของคนจีนในไทย  ไม่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่การเมือง”

นวนิยายเรื่อง“จดหมายจากเมืองไทย” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตรีสารที่มี อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ(ท่านล่วงลับเมื่ออายุได้ 100 ปี)  หลังจากนวนิยายเรื่องนี้พิมพ์รวมเล่ม ในเวลาต่อมาก็ได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นจากองค์การส.ป.อ.เมื่อปี 2512 เรียกกันสั้น ๆว่า “รางวัลส.ป.อ.” ถือว่าเป็นรางวัลที่มีคุณภาพและเป็นเกียรติยศในยุคนั้นนักเขียนที่ได้รับรางวัลนี้ เท่าที่จำได้ก็คือ สุวรรณี  สุคนธา จากนวนิยายเรื่อง “เขาชื่อกานต์”

คราวนี้นามปากกา”โบตั๋น”ขจรขจายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งที่อายุยังน้อยมาก แต่ความสามารถในการเขียนเกินวัย  หากเธอออกตัวว่า

“ดิฉันไม่ใช่นักเขียนที่ประสบความสำเร็จหรือมีความสามารถอะไรนักหนา ไม่ลงตะกร้าก็เข้าแฟ้ม”

การที่เรื่องถูกปฏิเสธถือว่าเป็นเรื่องปกติของนักเขียนใหม่  กว่าจะปีนป่ายสู่ความสำเร็จ  ผลงานก็ลงตะกร้ามาก่อนทั้งนั้น  เหมือนสโลแกนของอาจินต์  ปัญจพรรค์ ในคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่”เป็นสนามเรื่องสั้น-สั้นของนักเขียนใหม่ของนิตยสารฟ้าเมืองไทยที่ว่า “ตะกร้าสร้างนักเขียนมาทุกยุค”ซึ่งเป็นความจริงแท้  ไม่ใช่ว่างานเขียนชิ้นแรกต้องดีเยี่ยม จึงจะได้ลง ขอให้ดีหรือใช้ได้  บรรณาธิการที่มีสายตากว้างไกล  มองเห็นแววของนักเขียนใหม่ ก็ลงให้เป็นกำลังใจ

“เรื่องสั้นที่ส่งไปหนังสืออื่น ๆ ไม่ได้ลงเป็นส่วนใหญ่  ที่สตรีสารก็เข้าแฟ้มรอการตัดสินใจ  มันไม่เข้าขั้นจริง ๆ  เด็กอายุ 20 กว่าเขียน  แม้กระทั่งจะโดนใจคนอ่านคนแรกยังไม่ไหว  แล้วจะไปโดนใจคนอ่านทั้งประเทศได้ยังไง” 

เหตุที่โบตั๋นรู้ว่าเรื่องสั้นของเธอเข้าแฟ้ม แต่ไม่ใช่เข้าแฟ้มรอตีพิมพ์  เพราะช่วงนั้นโบตั๋นไปเป็นบรรณาธิการผู้ ช่วยนิตยสารสตรีสาร รับผิดชอบในส่วน “สตรีสารภาคพิเศษ” ที่แทรกอยู่หน้ากลางสำหรับเยาวชน  เธอเห็นเรื่องสั้นของเธออยู่ในแฟ้มบรรณาธิการเกือบ 20 เรื่อง

นักเขียนใหม่ย่อมรู้สึกใจหายบ้างเป็นธรรมดาที่เรื่องของตนไม่ผ่านการพิจารณา แต่เมื่อเธอมาคิดดูอีกที ถือว่าเป็นการฝึกปรือฝีมือในการเขียน ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด จึงลงมือเขียนต่อไป จากเรื่องสั้นที่ได้ตีพิมพ์ในสตรีสาร จึงก้าวไปสู่การเขียนนวนิยาย โดยการกลั่นกรองของบรรณาธิการชั้นครู ที่เปรียบเสมือนช่างเจียระไนเพชรเม็ดงามคือ อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง

นอกจากนวนิยายเรื่อง“จดหมายจากเมืองไทย” ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว  ยังได้รับการแปลถึง 10 ภาษาได้แก่ ภาษาอังกฤษ  ญี่ปุ่น  จีน ตากาล็อก(ฟิลิปปินส์) เยอรมัน  ฝรั่งเศส เป็นอาทิ  นอกจากนี้ยังได้รับยกย่องให้เป็น 1 ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

 โบตั๋นเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “ไอ้ดำ”ลงในนิตยสารขวัญจิต ใช้นามปากกา”ทิพเกสร” จากนั้นจึงเขียนเรื่องสั้นในนามปากกา “โบตั๋น”ส่งไปที่สตรีสาร ดังที่กล่าวข้างต้น

เธอบอกว่า เรื่องสั้นที่เขียนส่งสตรี ได้ลงตะกร้าเป็นส่วนใหญ่  ยอมรับว่าตนเองไม่ถนัดเขียนเรื่องสั้น เพราะว่า...

“เป็นคนที่คิดอะไรยาว ๆ  คิดอะไรใหญ่ ๆ  เป็นนวนิยายมากกว่า  เขียนเรื่องสั้นออกมาทีไรก็ยาวทุกที เป็นคนเขียนเรื่องสั้นได้ไม่ค่อยดี” 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เธอจึงเขียนเรื่องสั้นขนาดยาวส่งไปที่สตรีสารเป็นการทดสอบความสามารถของตนเอง  เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็คือ...

“เรื่อง ‘น้ำใจ’ เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ประมาณ 10 ตอน พระเอกช่างดีเลิศประเสริฐศรีเสีย

เหลือเกิน นางเอกได้พึ่งพาขนาดหนัก คือคนเขียนก็ใฝ่ฝันอยากจะเห็นพระเอกที่แสนดี  คนเขียนก็ยังฝีมือไม่ถึง ท่านยังกรุณาลงให้ ได้ลงเป็นชิ้นเป็นอันหนึ่งก็เรื่องนี้แหละ”

โบตั๋นอาจจะไม่ถนัดเขียนเรื่องสั้นอย่างเธอพูดหรือไม่  ก็ไม่แน่ใจนัก อย่าลืมว่าช่วงแรกของการเขียน เธอยังเป็นนักเขียนใหม่ วัยและประสบการณ์ยังน้อย  แต่เมื่อประสบการณ์มากขึ้นตามวัย จนกระทั่งความคิดตกผลึก  เธอได้แสดงฝีมือในทางเรื่องสั้นให้ประจักษ์มาแล้ว

นั่นก็คือ ครั้งที่สุชาติ  สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการช่อการะเกดส่งเทียบเชิญนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาประชันฝีมือกัน ในช่อการะเกดฉบับที่ 9 ชุด สบสังวาสสโมสร เมื่อปี 2535 โบตั๋นได้เขียนเรื่องสั้นส่งไปตามคำเชิญ ในนิตยสารช่อการะเกดฉบับนี้  มีเธอเพียงคนเดียวที่เป็นนักเขียนหญิงระดับแถวหน้า 1 ใน 3 คนที่อาวุโสที่สุด  เรื่องสั้นเรื่องนั้นก็คือเรื่อง “ไปสุสาน” 

นวนิยายเรื่องแรกของโบตั๋น เป็นนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง“รุ้งสีชมพู”นวนิยายเรื่องที่สองคือ“ทางชีวิต” สำหรับนวนิยายเรื่องที่สามคือ “จดหมายจากเมืองไทย” ดังที่กล่าวข้างต้นและหลังจากหยุดเขียนหนังสือไปปีกว่า โบตั๋นหวนกลับมาเขียนนวนิยายอีกครั้ง เป็นนวนิยายขนาดสั้น 10 ตอนจบ คือเรื่อง...

“เรื่อง“ความสมหวังของแก้ว” เป็นนวนิยายที่ชอบที่สุด  แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีเรื่องไหนชอบเท่าเรื่องนี้”

เธอบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อนวนิยายเรื่องนี้ว่า ได้บรรยายความรู้สึกของผู้หญิงได้ถึงใจตัวเองมาก นั่นก็คือ... 

“มันเป็นความรู้สึก ความเข้าใจของผู้หญิงเพศเดียวกัน  มีความรู้สึกว่าบรรยายได้เข้าถึงอารมณ์ของผู้หญิงค่อนข้างถึงแก่น  เป็นความรู้สึกของผู้หญิงที่ถูกคนแวดล้อมรังแกและความรู้สึกว่าขาดบางสิ่งในชีวิตที่ต้องการสิ่งมาชดเชย”

โบตั่นสรุปให้เห็นถึงความจริงของชีวิตว่า  สุดท้ายแล้วสิ่งที่คนเราได้มา มันจอมปลอมทั้งนั้น  พอได้มาแล้ว ถึงรู้ว่ามันไม่คุ้มกับการที่ต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าในชีวิต นั่นก็คือสามี

(อ่านต่อตอนหน้า)

 

“อุดมคติจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อบุคคลในสังคมใช้ความคิดอย่างเสรี ปราศจากพันธนาการของจารีตประเพณี หรืออีกนัยหนึ่งเราต้องสนับสนุนให้มนุษย์แต่ละคนใช้ความคิดอย่างมีเสรีภาพ ที่ไม่ต้องพึงหวาดหวั่นว่าจะเป็นความคิดนอกลู่นอกทาง”(ป๋วย อึ้งภากรณ์)