ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า ความเครียดที่เป็นอันตราย คือ ความเครียดในระดับสูงที่คงอยู่เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต พฤติกรรม ครอบครัว การทำงาน และสังคมได้

ดังนั้น เราจึงควรรู้จักการผ่อนคลายความเครียดที่ถูกวิธี เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเราเป็นสุข ทั้งนี้ความเครียดเกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ

1. สาเหตุทางด้านจิตใจ ได้แก่ ความกลัวว่าจะไม่สมหวังกลัวจะไม่สำเร็จ หนักใจในงาน หรือภาระต่าง ๆ รู้สึกว่าตัวเองต้องทำสิ่งที่ยากเกินความสามารถ มีความวิตกกังวลล่วงหน้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

2. สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ได้แก่ การเปลี่ยนช่วงวัย การแต่งงาน การตั้งครรภ์ การเริ่มเข้าทำงาน การเปลี่ยนงาน การเกษียณอายุ การย้ายบ้าน การสูญเสียคนรัก เป็นต้น

3. สาเหตุจากการเจ็บป่วยทางกาย ได้แก่ การเจ็บไข้ ไม่สบายที่ไม่รุนแรง ตลอดไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคที่รุนแรงและเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น  (https://new.camri.go.th/infographic/29)

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผู้เป็นประธานในงาน กล่าวว่า "จากผลการประเมิน Mental Health Check In โดยกรมสุขภาพจิต ในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 34,579 คน มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกกลุ่มวัย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19"

เด็กและเยาวชนก็ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศยิ่งมีความทุกข์ใจมากขึ้น ทั้งจากการขาดแรงสนับสนุนอย่างกลุ่มเพื่อน การที่ไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนที่บ้านได้ หรือแม้แต่เจอเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต่อตนเอง เด็กและเยาวชนบางส่วนยังถูกกดดัน หรือถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือคนในชุมชน เพียงเพราะไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมที่สังคมคาดหวัง

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า งานวิจัย สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ที่นำเสนอในงาน ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าวในกลุ่มเยาวชนหลากหลายทางเพศ อายุ 15-24 ปีในประเทศไทย ผ่านแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 3,094 คน และสัมภาษณ์ออนไลน์ 38 คน ผลวิจัยพบว่า 70-80% ของผู้เข้าร่วมมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า โดยเยาวชนกลุ่มนี้ถูกกระทำความรุนแรงในหลายรูปแบบ เช่น 75.8% เคยถูกล้อเลียน 42.4% เคยถูกบังคับให้พยายามเปลี่ยนตัวตนทางเพศ และเกินครึ่งเคยถูกคุกคามทางเพศทั้งออนไลน์และต่อหน้า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เกินครึ่งของผู้เข้าร่วมเคยคิดฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา

เราเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะบูรณาร่วมกันในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติรอบด้านอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปในเชิงรุก ทั้งประยุกต์เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาและเดินเคาะประตูบ้าน