ไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่กำหนดโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตและปรับสูงสุดถึง 1 ล้านบาท โดยให้มีผลประมาณวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล โดยชื่นชมประเทศไทยที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

โดยมองว่า พระราชบัญญัติฯ ซึ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการปฏิบัติตามคำมั่นของไทยเพื่อขจัดการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายให้หมดสิ้น และเป็นการให้ความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งพระราชบัญญัติฯ มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องสิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมานเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้ (non-derogation) และหลักการไม่ส่งใครกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ขับไล่ เนรเทศ หรือส่งบุคคลใดไปยังอีกประเทศหนึ่งที่อาจเผชิญความเสี่ยงต่อการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

นอกจากนี้ สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังชื่นชมไทยที่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการทบทวนสิทธิมนุษยชนครั้งล่าสุดตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) และระบุว่า หลังจากที่มีกรอบกฎหมายบังคับใช้ในประเทศแล้ว ประเทศไทยสามารถดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ในลำดับถัดไป และพร้อมให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่รัฐบาลตามที่มีความจำเป็นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าในห้วงเวลาสุญญากาศที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้นี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ และเตรียมความพร้อมในการป้องปรามไม่ให้อาศัยช่องว่างในการกระทำความผิดของฝ่ายใด