ดูเหมือนช่วงนี้จะมีข่าวดีทางด้านเศรษฐกิจให้ยิ้มได้กันบ้าง ไล่มาจากข่าวที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิกเผยเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2565 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคบริการฟื้นตัว ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ โดยภาพรวมในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน 

ขณะที่แนวโน้มเดือนตุลาคม 2565 และระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจมี แนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1) การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2) อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3) การแพร่ระบาดของ COVID-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่น่าสนใจอีกตัวเลขเศรษฐกิจ คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนกันยายนขยายตัว 3.36% ขณะที่ไตรมาส 3 หรือ กรกฎาคม-กันยายน ขยายตัว 8.06% ส่งผลให้ 9 เดือน หรือ มกราคม-กันยายน ขยายตัว 2.83% ทำให้ทั้งปีเชื่อว่า เอ็มพีไอจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5 -2.5% ซึ่งเดือน พฤศจิกายน จะปรับตัวเลขเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)เชื่อว่าเอ็มพีไอปี 2566 จะสูงกว่าปีนี้แน่นอน เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก ทั้งสหรัฐ อาเซียน และสหภาพยุโรป หรืออียู ยังขยายตัวได้, ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี ส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีเช่นกัน รวมถึงกิจกรรมกระตุ้นทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ภาคอุตสาหกรรม คาดว่า ปีนี้ ขยายตัว 2-3% และปีหน้าจะสูงกว่าปีนี้

“ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมฟื้นค่อนข้างเห็นได้ชัด ซึ่งการขยายตัวของเดือนนี้ ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโควิดแล้ว เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง มาตรการท่องเที่ยว มาตรการส่งเสริมอีวี ส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีกิจกรรมที่คึกคักขึ้น และ 3 เดือนที่เหลือปีนี้ จะดีขึ้นแน่นอน ทำให้เชื่อว่า ปีหน้าถ้าไม่มีอะไรรุนแรง ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวดีขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร, ยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนภาคอุตฯ ที่สำคัญ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน กันยายน อยู่ที่ 63.18 ไตรมาส 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 62.55 และ 9 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 63.4 ถือว่าค่อยๆ ปรับขึ้นต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและตัวเลขความเชื่อมั่นต่างๆเป็นไปในทิศทางที่ดี ด้วยอานิสสงส์ของมาตรการรัฐ ซึ่งต้องจับตาดูว่าหากหมดแพ็กเกจมาตรการรัฐ เศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อเนื่องหรือไม่ ท่ามกลางปัจจัยที่ท้าทายต่างๆ