เสือตัวที่ 6

ขบวนการสร้างความเห็นต่างระหว่างคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานกับคนส่วนอื่นของประเทศ เพื่อเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเดินหน้าไปสู่การปกครองกันเองของคนในพื้นที่แห่งนี้อย่างทรงพลัง ด้วยการดำเนินการอย่างเป็นระบบและมุ่งหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ ทำให้ความพยายามของรัฐในการหลอมรวมผู้คนในพื้นที่เกิดความคิดใหม่ที่จะอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่อื่นหรือกลุ่มคนอื่นๆ ที่มีความเชื่อที่แตกต่างและอยู่ร่วมกันในพื้นที่ได้อย่างปกติสุขนั้น ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการของรัฐที่พยายามเปิดโอกาส สร้างทางเลือกให้ขบวนการแห่งนี้โดยเฉพาะบรรดาแกนนำของขบวนการนี้ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับแกนนำของขบวนการต่อสู้กับรัฐ ในการแสวงหาทางออกของปัญหาที่ไม่เข้าใจระหว่างกันจนกระทั่งบานปลายขยายวงกว้างร้าวลึกไปสู่การสร้างความเกลียดชังสุดขั้ว และการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น มีทางออกอย่างสันติตามวิถีที่เรียกกันว่าการพูดคุยสันติสุขที่รัฐกำลังใช้วิถีทางดังกล่าวนี้ เป็นประตูสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างทั้งหลายที่เรียกกันว่าแนวทางพหุวัฒนธรรมนั้น ไม่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ด้วยเส้นทางของการขับเคลื่อนการแสวงหาทางออกของความเห็นต่างจนนำไปสู่ความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของฝ่ายขบวนการแห่งนี้นั้น เริ่มต้นที่ความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างแกนนำฝ่ายขบวนการกับรัฐเป็นอย่างมาก แนวคิดการต่อสู้ของขบวนการ ยังคงอ้างอิงหลักการในคำสอนในศาสนาที่กลุ่มตนนับถือซึ่งมักจะถูกให้ความหมายที่สร้างความแตกต่างระหว่างกลุ่มตนกับคนกลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด และนั่น ได้เป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขโดยแท้ ด้วยขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ ได้ยึดโยงหลักการตามคำสอนเป็นหลักในการขับเคลื่อนการต่อสู้อย่างเหนียวแน่น และถูกให้ความหมายที่นำไปสู่การต่อสู้ทั้งการพูดคุย ควบคู่ไปกับการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างชัดเจน ผ่านแนวคิดของ ดร.นิกมะตุลเลาะห์ บิน สือรี โฆษกคณะเจรจาสันติภาพขบวนการบีอาร์เอ็น(BRN) ซึ่งบุคคลท่านนี้ บุคคลหนึ่งที่มีบทบาทบนโต๊ะการพูดคุยสันติสุข

ดร.นิกมะตุลเลาะห์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เพราะเหตุใดอัลกุรอานและซุนนะห์จึงเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญที่สุดของ BRN กล่าวคือ สิ่งที่อยู่เหนือกว่า BRN ในเชิงโครงสร้างหรือเหนือกว่าหน่วยเหนือใดๆ ทั้งสิ้น หรือเหนือกว่าผู้นำขององค์กรนำทั้งหมดก็คืออัลกุรอานและซุนนะห์ นั่นเอง และเมื่อใดที่มีการขัดแย้งกันในหมู่สูเจ้า พวกเจ้าจงหันกลับไปยังอัลกุรอานและซุนนะห์ หากว่าพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮและวันแห่งโลกหน้า ทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงควรกลับไปยังอัลลอฮและรอซูล อัลกุรอานและซุนนะห์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องลบล้างความรู้สึก Racialism (การเหยียดเชื้อชาติ) ให้จงได้ และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ตั้งแต่ได้มีการจัดตั้ง BRN ขึ้นมานั้น BRN ก็ได้เลือกแนวทางคู่ขนานในการต่อสู้เรื่อยมาก็คือ สู้รบแล้วก็เจรจา สู้รบแล้วก็เจรจา สู้รบแล้วก็พูดคุย สู้รบแล้วก็พูดคุยตลอดมา และการญีฮาด (ความมุ่งมั่นพยายามถึงที่สุด) นั้นจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อจนถึงวันสิ้นโลก ซึ่งการญีฮาดนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการสู้รบด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียว การพูดคุยเพื่อสันติภาพก็เป็นการญีฮาดอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากว่าต้องการจะสร้างสันติภาพ ก็จะต้องเตรียมพร้อมที่จะสู้รบด้วย ด้วยเหตุนี้ ขบวนการแห่งนี้จึงได้มีการเจรจาสันติภาพกับควบคู่กับการต่อสู้ของพวกเขาตลอดมา

ดร.นิกมะตุลเลาะห์ กล่าวย้ำการต่อสู้มีใจความว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ เป้าหมายเพื่อการสร้างสันติภาพนั้น ต้องเป็นไปในรูปแบบที่ขบวนการต้องการ โดยมีบัญชาจากพระเจ้าที่เกี่ยวข้องมุสตัฏอาฟีนในกุรอานมีใจความว่า การปกป้องตนเองด้วยกำลังอาวุธ (การใช้อาวุธในการต่อสู้) นั้น จะเป็นไปเพื่อต้องการส่งสัญญาณไปยังคู่ต่อสู้อย่างเฉพาะเจาะจงว่า ดินแดนแห่งนี้มีเจ้าของ นั่นคือพี่น้องในพื้นที่ หากแต่ได้ถูกยึดครองไปโดยคนอื่น กล่าวคือ เพื่อให้รัฐไทยจะได้ปลดปล่อยการข่มเหงต่างๆ และปลดปล่อยดินแดนที่ยึดมา ด้วยการส่งคืนให้เจ้าของเดิม แต่ทว่าเอกราชหรือชัยชนะนั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วงชิงให้ได้มาไม่ใช่ด้วยการร้องขอ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้การต่อสู้ประสบความสำเร็จนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีกำลังทางอาวุธด้วย นั้นแสดงเห็นได้ว่า แกนนำขบวนการสร้างความเห็นต่างแห่งนี้ มีความมุ่งมั่นในการอ้างอิงหลักคำสอน ให้เห็นว่าชัยชนะของพวกเขา ต้องได้มาด้วยการเจรจาพูดคุย ควบคู่กับการต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งนั่น เป็นการสืบทอดเจตจำนงการต่อสู้อย่างทรงพลัง เขาอ้างว่า ผู้คนในพื้นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือกันตามหลักของฮาดิษนบีมี ที่มีใจความว่า จงให้ความช่วยเหลือพี่น้องของคุณเถิด ไม่ว่าพี่น้องของคุณจะอยู่ในสถานการณ์เป็นผู้ข่มเหงหรือเป็นผู้ที่ถูกข่มเหงก็ตาม

บนความแตกต่างในกระบวนการนำสันติสุขมาสู่ผู้คนในพื้นที่ ต่างก็มีเป้าหมายสำคัญบนเส้นทางของกระบวนการพูดคุยสันติสุข ก็ยังคงมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยที่เป้าหมายของคณะพูดคุยของรัฐ มีความชัดเจนว่าท้ายที่สุดการพูดคุยนั้นจะต้องนำสันติสุขที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐไทย ในขณะที่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน มีเป้าหมายชัดเจนว่าท้ายที่สุดการพูดคุยนี้จะนำไปสู่เอกราชของรัฐปาตานีหรืออิสระในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่แห่งนี้โดยสมบูรณ์ นอกจากนั้น พลังในการต่อสู้ทางความคิดของรัฐ ยังหาเงื่อนไขหรือจุดอ้างอิงในอันที่จะนำมาซึ่งความทรงพลังในการต่อสู้ทางความคิดไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ในขณะที่ขบวนการยังคงมีความทรงพลังในการต่อสู้ทางความคิดอย่างคงเส้นคงวา ด้วยการอาศัยการยึดโยง อ้างอิงหลักการตามคำสอนที่ถูกตีความให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง

ดังนั้น หนทางที่เป็นไปได้ ณ ห้วงเวลานี้ที่รัฐจะพึงนำไปใช้เป็นแนวทางการพูดคุยสันติสุขและนำมาซึ่งสันติภาพบนเป้าหมายที่ยอมรับได้ระหว่างกันก็คือ หลักการตามแนวคิด แสวงจุดร่วม นั่นคือความพยายามในการค้นหาจุดร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และสร้างเสริมในจุดนั้นให้แข็งแกร่ง มากยิ่งขึ้น และไม่ก้าวล่วงหรือหลีกเลี่ยงความแตกต่างของแต่ละฝ่าย พยายามค้นหาประเด็นเห็นชอบร่วมกันที่เป็นไปได้ อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่พยายามเอาชนะความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในทางตรงข้าม ต้องส่งเสริมจุดแข็งของคู่เจรจา พูดคุยอย่างประนีประนอมหลอมรวมความคิด ด้วยการแสวงหาจุดร่วมจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายออกไปเป็นจุดใหญ่ ด้วยการให้ความสำคัญกับแนวทาง แสวงจุดร่วมนี้ให้เข้มข้น จริงจังและต่อเนื่อง