แม้เจตนารมณ์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย  ด้วยการเสนอสิทธิพิเศษให้สามารถซื้อที่ดินในประเทศได้  แต่ประเด็นดังกล่าวก็มีความอ่อนไหว และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่ โดยเฉพาะความวิตกกังวลว่าสุดท้ายลูกหลานไทยจะไม่มีที่อยู่

จึงขอนำสาระสำคัญร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย ตามที่นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม  2565 ที่ผ่านมามานำเสนอดังนี้

-ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

-คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย สามารถเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศไทยได้ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่ง ประมวลกฎหมายที่ดิน

-ต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเองเท่านั้น

-มีสิทธิซื้อที่ดินได้ภายในเขตกรุงเทพฯ เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

-ที่ดินนั้นจะเป็นสิทธิ์ที่สามารถโอนให้ลูกหลานได้ แต่ไม่สามารถขายต่อได้ เพราะอาจก่อให้เกิดการเก็งกำไร ซื้อมาขายไป

-คุณสมบัติสำหรับกลุ่มต่างด้าวเป้าหมายที่รัฐบาล จะชักชวนเข้ามาลงทุน แบ่งเป็นกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท 1) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2)กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ  3)กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ4)กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

-เงื่อนไขต้องมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วย  ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน หากถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาการดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน

โดยมีข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรม.กลาโหม ให้ ร่างกฎกระทรวงฯ สามารถทบทวนได้ทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมไทยในขณะนั้นๆ และจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะส่งร่างให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา พร้อมรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง