แม้บทเรียนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา มาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ จะกลายเป็นการปิดล้อมชั้นดีต่อการเติบโตและขยายตัวของภาคท่องเที่ยว กระนั้นหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว ยังพบว่าการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2566 รายได้ของธุรกิจโรงแรมและที่พักน่าจะเติบโตต่อเนื่อง แม้การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยกลุ่มโรงแรมและที่พักที่น่าจะฟื้นตัวได้ดี ยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทย
นอกจากนี้ในปี 2566 กลุ่มที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะกลับมาดีขึ้นอย่างกลุ่มที่ทำตลาดจับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคตะวันออกกลาง และกลุ่มโรงแรมที่มีรายได้จากการจัดงานอีเวนต์และประชุมสัมมนา โดยเฉพาะกลุ่มที่จับตลาดการประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ น่าจะมีโอกาสในการฟื้นตัวได้ดี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2566 อัตราการเข้าพักของสถานพักแรมทั่วประเทศน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณ 52-60% จาก 44% ในปี 2565 (ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 อัตราการเข้าพักสถานพักแรมทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 41.21%) แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70.08% โดยพื้นที่ที่ฟื้นตัวดียังเป็นกลุ่มที่เป็นจุดหมายปลายทางของ นักท่องเที่ยวไทยจะมีอัตราการเข้าพักที่สูง อาทิ ภาคตะวันตก (เช่น กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี) และภาคเหนือ (เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน) เป็นต้น ขณะที่ภาคใต้ และกรุงเทพฯ ซึ่ง อัตราการเข้าพักสถานพักแรมทยอยปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าระดับปี 2562 เป็นผลจากในพื้นที่มีจำนวนห้องพักที่ค่อนข้างสูง
โดยคาดว่า ในปี 2566 รายได้ธุรกิจโรงแรมและที่พักน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีมูลค่าประมาณ 3.8 แสนล้านบาท
ขณะที่การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ยังส่งผลให้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ประจำเดือน กันยายนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.9 จากเดือนสิงหาคมก่อนหน้าที่ระดับ 51.2 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศส่งผลให้ความต้องการในหมวดสินค้าอุปโภค บริโภคและการค้าปลีกเพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลและการคาดการณ์ข้างต้น เรามองเห็นแนวโน้มที่ดีของอนาคตการท่องเที่ยวและธุรกิจต่างๆที่ได้รับอานิสสงส์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่เรายังคงเห็นว่าการท่องเที่ยวควรจะมีผู้ช่วยพระเอกหลายๆคน เพื่อขับเคลื่อนห่วงโซ่เศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้พระเอกตายตอนจบ