แสงไทย เค้าภูไทย

ประเด็นขายที่ดินให้ต่างชาติหวังเป็นแรงจูงใจให้มาลงทุนดูจะไม่ตรงเป้านัก บริษัทต่างชาติทยอยปิดโรงงานย้ายฐานผลิตกันเรื่อยๆ ไปสู่ประเทศที่พวกเขาเชื่อมั่นในผู้นำมากกว่า ตัวอย่างที่เห็นคือการได้ผู้นำคนใหม่ของจีนกับอังกฤษที่ให้อารมณ์ต่างกัน

ญี่ปุ่นเคยเป็น “นักลงทุนต่างชาติ” รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ เหมือนกับที่จีนกำลังเป็นอยู่และมีทีท่าว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐฯ

การที่นักลงทุนจีนในไทยกำลังแทนที่ญี่ปุ่นด้วยการเป็นต่างชาติที่ลงทุนในไทยใหญ่ที่สุด ในขณะนี้ มิใช่เพราะจีนเพิ่มหรือขยายการลงทุน หากแต่เป็นเพราะญี่ปุ่นกำลังทยอยถอนการลงทุนในไทยหรือย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศอื่นๆ

บริษัทญี่ปุ่นที่ถอนการลงทุนจากไทยรายล่าสุดคือพานาโซนิค ที่มีการจ้างงานคนไทยถึง 2,000 คน

คาดกันว่า พานาโซนิค จะย้ายฐานผลิตจากไทยไปสู่เวียดนาม ซึ่งมีอัตราค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทย และเป็นฐานส่งออกสินค้าที่แข็งแกร่ง กว้างขวาง ใหญ่กว่าไทย โดยเฉพาะตลาดใหญ่คือสหรัฐฯ ยุโรปและจีน

การที่ไทยสูญเสียการลงทุนจากต่างประเทศไป เช่นนี้ ทำให้ดูคล้ายกับว่า ไทยไม่มีสิ่งดึงดูดใจต่างชาติให้มาลงทุน

สิ่งดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาตินั้น  คิดและเชื่อกันมาหลายยุค หลายสมัยแล้วว่า คือการการได้ถือครองหรือเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งโรงงาน ที่ตั้งสถานประกอบการ และที่อยู่อาศัยของเจ้าของกิจการ

ยุคชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเกิดวิกฤตการต้มยำกุ้ง 2540  เศรษฐกิจย่ำแย่ รัฐบาลใช้นโยบายดึงดูดการลงทุนต่างประเทศด้วยมาตรการให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้ ด้วยวิธีการเช่าที่ดินไม่เกิน 50 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ 30 ปีแล้วต่อสัญญาใหม่ได้อีก 20 ปี

ต่อมายุคทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขยายระยะเวลาจาก 50 ปีในยุคชวน เป็น  99 ปี

พอมาถึงยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับมาตรการด้วยการโดยต่อยอดมาตรการยุคทักษิณว่าให้ผู้ลงทุนต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรม EEC ได้ไม่เกิน 99  ปี โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือช่วงแรก 50 ปีแล้วต่ออายุได้อีก 49 ปี

มาถึงวันนี้เงื่อนไขการถือครองที่ดินของนักลงทุนต่างชาติในรูปแบบการเช่า เปลี่ยนไปเป็นการเป็นเจ้าของที่ดินไทยจำนวน 1 ไร่ หากลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งเงื่อนไขผ่อนปรนด้านวีซ่าระยะยาว

ทำไมถึงเชื่อว่า การให้สิทธิถือครองที่ดินเป็นสิ่งจูงใจในการลงทุนในประเทศไทย ?

หากมองออกไปในโลกกว้าง  ความเชื่อมั่น การมุ่งมั่นในการลงทุนของนักลงทุนนั้น มิได้มองที่สิ่งจูงใจหากแต่มองที่การบริหารเศรษฐกิจมากกว่า

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเลือกผู้นำสองชาติที่ยังผลให้เกิดผลลบและบวกต่อตลาดโลก

เลือกตั้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้สี จิ้น ผิง เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย วาระ 5 ปี

เลือกตั้งอังกฤษ ได้ริชี ซูแน็ก เป็นนายกรัฐมนตรี

เปิดตลาดวันจันทร์ ผลการเลือกตั้งสองผู้นำ ส่งให้ตลาดแยกกันไปคนละทิศ

ของจีนนั้น  ตลาดหุ้นตกระเนนระนาด ไม่ว่าจะในตลาดเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต หรือตลาดเซินเจิ้น  รวมทั้งตลาดฮั่งเส็งของฮ่องกงที่เป็นตลาดที่หุ้นจีนจดทะเบียนมากที่สุด

หรือแม้แต่ตลาดวอลสตรีทของสหรัฐฯที่บริษัทจีนไปจดทะเบียนถึงกว่า 700 บริษัท

เหตุผลคือ นโยบายพาจีนกลับไปสู่เศรษฐกิจระบบสังคมนิยม การใช้ข้อบังคับเข้มงวด การถือครองทรัพย์ เอียงไปทางสังคมนิยมขึ้นทุกทีในครึ่งหลังของการอยู่ในตำแหน่งของสี จิ้นผิง

จีนนั้น เจริญ มั่งคั่งขึ้นมาด้วยนโยบาย  1 ประเทศ 2 ระบบของเติ้ง  เสี่ยว ผิง ผู้เปิดประตูจีนสู่โลกกว้าง

หนึ่งประเทศคือ จีนทั้งแผ่นดิน 2 ระบบ คือระบบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อีกระบบคือเศรษฐกิจเป็นทุนนิยม

ไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องถือครองที่ดินหรืออะไรอื่น  นักลงทุนต่างชาติแห่ไปลงทุนกันล้นหลาม

โดยเฉพาะสหรัฐฯนั้นอยู่กันยาว ถึงขนาดอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้องให้บริษัทอเมริกันในจีน หันกลับมาลงทุนในบ้านตัวเองบ้าง 

เพื่อจะได้สร้างงานให้คนอเมริกันและ เพื่อ “อเมริกามาก่อน” หรือเหนือสิ่งอื่นใด “America First”

วันนี้ เมื่อสีได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ บริษัทต่างชาติเตรียมถอนการลงทุน

โดยเฉพาะอีลอน มัสก์ นั้น ประกาศลดราคารถยนต์ไฟฟ้าเทสล่าที่ขายในจีนลงถึง 9% เป็นสัญญาณว่าจะโละทิ้งแล้วถอนกลับ

ต่างจากอังกฤษ นายกฯคนใหม่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีผลงานดีเด่น

เป็นคนที่มีคุณสมบัติที่ชาวอังกฤษต้องการในสถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่ขณะนี้

แม้จะเป็นคนอินเดียโดยกำเนิด  แต่มาถูกเวลา  พอผลการเลือกตั้งออกมา ตลาดหุ้น ตลาดทุนพากันแห่ขึ้นบวกกันทุกกระดาน

นี่คือผลแตกต่างที่เกิดจากความรู้สึกของผู้นำทั้งสอง

ไม่เห็นต้องประกาศเงื่อนไขถือครองที่ดินแบบไทยเลย