ทองแถม นาถจำนง
มีภาษิต ลาติน บทหนึ่งว่า Translators are traitors. ผู้แปลคือคนทรยศ หมายความว่า การแปลเนื้อความจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งนั้น มักจะบิดเบี้ยว ไม่ตรงกับเนื้อความเดิม
อย่างไรก็ตาม ล่ามที่แปลคำพูดหรือแปลสาส์นทางการทูตสมัยก่อนนั้น ได้แปลสาส์นให้เกิดเป็นคุณประโยชน์ก็มี ยกตัวอย่างเช่นคำแปลพระราชสาส์นระหว่างฮ่องเต้จีนกับอ๋อง(ราชา)แห่งสยาม (เสียนหลัว) แปลอย่าง “แปลงสาส์น” มีคุณมากกว่าแปลอย่างตรงไปตรงมา พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ใน “สยามรัฐหน้า 5” ฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2515
เนื้อหามีดังนี้
“เมื่อปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1187 พ.ศ 2368 อันเป็นเวลาที่อยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีราชทูตไทยคุมเครื่องราชบรรณาการไปจำเริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าเตากวง ณ กรุงปักกิ่งต่อมาได้มีพระราชสาส์นจากพระเจ้าเตากวงส่งกลับมากับคณะทูตยังกรุงเทพ พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการตอบแทน คำแปลพระราชสาส์นของพระเจ้าเตากวงซึ่งได้ทำขึ้นในรัชกาลที่ 3 นั้น มีดังต่อไปนี้
“พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าเตากวง จำเริญทางพระราชไมตรีมาถึงสมแด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาด้วย ณ มรสุมปีระกาสัปตศก สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ราชภิเษกใหม่ คิดถึงทางพระราชไมตรี แต่งให้พระสวัสดิ์สุนทรอภัย ราชทูต หลวงบวรเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อใหญ่ ขุนพินิจวาจา ปั้นสื่อ จำทูลพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการออกไปจิ้มก้องเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้น พระเจ้าเตากวงมีความยินดียิ่งนัก ทูตานุทูตอุตสาหะออกมา คลื่นลมกล้าระยะทางไกลกันดาร สำเภาเสีย ทูตานุทูตได้ความลำบาก มีพระทัยสงสาร จึงให้ทูตานุทูตยังอยู่เมืองกวางตุ้ง เหมือนหนึ่งทูตานุทูตได้จำทูลพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการขึ้นไปถึงกรุงปักกิ่ง ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศีอยุธยาอยู่แล้ว”
ต่อจากนี้ไปเป็นบัญชีเครื่องราชบรรณาการตอบแทน ซึ่งเป็นแพรชนิดต่าง ๆ รวม 110 ม้วนในตอนท้ายมีข้อความว่าพระราชสาส์นมา ณ วันเดือนยี่ ขึ้นสองค่ำ เตากวงศักราชห้า ปีระกา สัปตศก
พระราชสาส์นข้างต้นนี้ ผู้ใดจะแปลขึ้นไว้ไม่ปรากฏ แต่ก็มีข้อความกระทัดรัดงดงามดี เมื่อไม่นานมานี้ คุณเฉลิม ยงบุญเกิด แห่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้สำเนาพระราชสาส์นฉบับเดียวกันนี้ในภาษาจีนคุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้ส่งพระราชสาส์นภาษาจีนนั้นให้แก่คุณยม ตัณฑเศรษฐี แห่งธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เพื่อแปลขึ้นเป็นภาษาไทยให้ตรงตามพระราชสาส์นในภาษาจีน
คุณยม ตัณฑเศรษฐี ได้กรุณาส่งคำแปลพระราชสาส์นนั้นมาให้ผมฉบับหนึ่ง มีข้อความดังต่อไปนี้
“ฮ่องเต้พระราชทานพระดำรัสแก่แต้หกทัมป๋วย กษัตริย์ประเทศเซี่ยมล้อซึ่งบำเพ็ญฝึกฝนในพระราชพิธีนิยมของเรา สำแดงความยำเกรงอย่างแจ้งชัด ชื่นชมพระอักษรที่บัลลังก์กลางพระราชทาน ใช้แพรไหมแระดับรักษาไว้ เป็นเยี่ยงอย่างอันดีงาม ท่านกษัตริย์ประเทศเซี่ยมล้อมีความกตัญญูต่อเราเสมือนบรรพบุรุษที่อยู่ห่างไกล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่ ส่งทูตนำของพื้นเมืองมาบรรณาการด้วยความเคารพเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
อนึ่งบรรดาบริพารที่เดินทางมานั้น ต้องฝ่าคลื่นลมด้วยความอันตราย พักอยู่เมืองกุ่ยลิ้ม ได้แต่แหงนมองเมฆและพระอาทิตย์จากที่ห่างไกล แต่เมื่อเขาได้ปันภูเขาล่องทะเลเพื่อเข้าเฝ้า ก็เท่ากับได้นำของมีค่ามากราบแทบฝ่ายุคลบาทแล้ว เมื่อนึกถึงเขาต้องผ่านความลำบากและทุรกันดาร สมควรแก่ความสงสารปลอบโยน ส่วนที่กษัตริย์ถวายเครื่องบรรณาการโดยเสียสละในฐานะประเทศในอารักขาของเรานั้น ก็สมควรได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก บัดนี้ให้พระราชทานแก่กษัตริย์และพระนางซึ่งไหมแพรหลายอย่าง เมื่อกษัตริย์ได้รับพระเมตตาปรานีเช่นนี้ จงมีความจงรักภักดีมากยิ่งขึ้น จงเทิดทูนความคุ้มครองของพระราชอาณาจักรนี้ถึงหมื่นชั่วคน ขอจงเข้มแข็งในความบริสุทธิ์สะอาด ขอจงอาบอยู่ในกระแสฝนน้ำค้างจากสวรรค์เก้าชั้นโดยไม่ขาดสาย ขอให้ปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งนี้ด้วยเทอญ”
ต่อจากนั้นก็มีบัญชีเครื่องราชบรรณาการจากฝ่ายจีน แบ่งเป็นสองชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่ารางวัลกษัตริย์มีอยู่ 9 รายการ ชนิดที่สองเรียกว่ารางวัลพระนาง มีอยู่ 8 รายการการบอกวันเดือนปีในท้ายพระราชสาส์นนั้นตรงกันพระราชสาส์นที่แปลจากภาษาจีนโดยตรงนั้น มีข้อความที่น่าสนใจอยู่มากอันแรกได้แก่พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางกรุงจีนได้ถือว่าพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในแซ่แต้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ปรากฏว่าในพระราชสาส์นจากกรุงจีนเรียกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าแต้เจีย
[ หมายเหตุ : พระนามพระเจ้ากรุงธนบุรี ในสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า “เจิ้งสิ้น”] เรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่า แต้ฮุด ส่วนจะเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิดหล้านภาลัยว่าอย่างไรนั้น ผมจำไม่ได้เสียแล้วปรากฏตามพระราชสาส์นข้างบนนี้ว่า ทางกรุงจีนเรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า แต้หก ส่วนพระปรมาภิไธยต่อไปว่า ทัมป๋วย นั้น น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่ง คำว่าทัมป๋วยนี้ เขียนด้วยหนังสือจีนสองตัวคือ ทัม ตัวหนึ่ง และ ป๋วย ตัวหนึ่ง ซึ่งเมื่ออ่านประกอบกันเข้าแล้วก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด
พระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ นั้นมีอยู่ว่า ทับ
เพราะฉะนั้น หนังสือสองตัวอ่านว่าทัมป๋วยนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นความพยายามของทางฝ่ายจีนที่จะใช้หนังสือจีน เขียนพระนามว่า ทับ เท่านั้นเอง
บัลลังก์กลางนั้นหมายถึงบัลลังก์ของพระเจ้าฮ่องเต้ที่กรุงปักกิ่ง คือองค์พระเจ้าฮ่องเต้นั้นเอง”
ประเด็นที่ผมต้องการเสนอก็คือ เนื้อความพระราชสาส์นฉบับเดียวกัน แปลออกมาแล้วต่างกันมาก นี่ก็เป็นกุศโลบายทางการทูตนั่นเอง คือทำให้ทั้งสองฝ่าย สยามกับจีน พึงพอใจทั้งสองฝ่าย
“การแปลงสาส์น” อย่างนี้ เป็นการให้คุณ มากกว่าให้โทษ จริงไหมครับ