สมบัติ ภู่กาญจน์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เตือนสติผู้คน เรื่อง ‘พลังทรพี’ มาถึงท่อนสุดท้าย อันเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญในการเรียกร้องให้ผู้คนในสังคม ‘ช่วยกันคิด’ ว่า มนุษย์ยังมีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสัตว์อื่นไม่มี นั่นคือ เหตุผล ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากว่า ทรพาทั้งหลาย ยังสามารถดำรงตัวให้อยู่ในฐานะอันควรแก่ความเคารพนับถือ อย่างที่ตนเรียกร้องเอาจากทรพีได้แล้ว ทรพีก็คงจะยังนับถือทรพาต่อไป ไม่ก้าวร้าว หมายความว่า คนรุ่นผู้ใหญ่ จะยังคงนำสังคมไปในทางที่ คนรุ่นหนุ่มสาว เห็นได้ว่าดี และถูกต้อง ถ้า คนรุ่นผู้ใหญ่ ยังดำรงตนอยู่ในฐานะที่ควรแก่ความเคารพ ไม่มากไปด้วยโทสะ โมหะ และโลภะ ถ้า บิดามารดา ยังคงแสดงคุณของตนให้ปรากฏ แก่ลูกได้อยู่โดยสม่ำเสมอ และ ‘ผู้ใหญ่’ยังสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตน ให้แก่ ‘คนรุ่นหลัง’รับฟังได้ สิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นเครื่องระงับพลังทรพี ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ มิให้ระเบิดออกมาเป็นวิธีเดียว ที่จะทำให้ทรพี ไม่แสดงอำนาจขึ้นมาได้ แต่ ถ้าสังคมใด คุณสมบัติต่างๆที่กล่าวมานี้ ของคนรุ่นผู้ใหญ่ เสื่อมคลายไปหรือหมดไป ทรพีก็จะต้องแสดงอำนาจในสัญชาติญาณของตนขึ้นมา จนได้และถ้าจะสู้กันจริงๆแล้ว ทรพา ก็ต้องตายใครไม่เชื่อ ก็ไปเปิดหนังสือรามเกียรต์อ่านเอาเองเถิด สรุปว่า การใช้อำนาจกับคนรุ่นหนุ่มสาว ของคนรุ่นผู้ใหญ่นั้น ไม่อาจจะเกิดประโยชน์อันใด และไม่มีผลดีในทางใดๆทั้งสิ้นความดีเท่านั้นเอง ที่จะทำให้คนนับถือและเชื่อฟังได้ ไม่ใช่อำนาจ ข้อความเหล่านี้ เขียนขึ้นเมื่อสี่สิบสี่ปีผ่านมาแล้ว ก่อนที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะเกิดขึ้นในสังคมไทยยังมีข้อเขียนอีก 4 ย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งถ้าเราจะมาอ่านกันในวันนี้ ‘เนื้อหาของเหตุการณ์’อาจจะพ้นสมัยไปบ้างแล้ว แต่ ‘เจตนา’ และ ‘วิธีการ’เตือนสติ ให้คนรุ่นผู้ใหญ่ คิดถึงในสิ่งที่ตนจะทำต่อคนที่รุ่นต่างจากตนนั้น ยังไม่ล้าสมัยแต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราจะเปลี่ยนคำว่า ‘คอมมูนิสต์’ เป็นคำว่า ‘ความเห็นต่าง’ และคำว่า ‘มหาวิทยาลัย’ให้เป็นคำว่า ‘กลุ่มชนในภาคส่วนต่างๆของสังคมไทย’ แล้ว คำเตือนนี้ก็ยังน่าจะใช้ได้ดี ข้อความใน ๔ย่อหน้าสุดท้ายนั้น มีดังนี้ ทั้งหมดนี้ ผมเขียนขึ้นด้วยความวิตก และความประหวั่นพรั่นพรึง หลังจากที่ได้อ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วพบว่า จะมีการดำเนินการให้ผู้ใหญ่สอดส่องมหาวิทยาลัยต่างๆในเมืองไทย เพราะผู้ใหญ่ได้รู้มาว่ามีคอมมูนิสต์แทรกซึม ถ้าจะพูดถึงคอมมูนิสต์กันแล้ว เขาก็ต้องพยายามแทรกซึมไปให้ได้ในทุกแห่ง เพราะนั่นคือวิสัยของเขาแต่สำคัญคือ การสอดส่องนั้น ถ้าส่องดีก็ดีไป แต่ถ้าไปส่องผิด เกิดความสับสนหรือไม่เข้าใจกันขึ้น แล้วยังมีการใช้อำนาจทับลงมาอีก ก็ขอให้ระวังกันดีๆ ความร้าวฉานจะยิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อพ่อแม่หรือพี่ป้าอาลุง จะต้องเกิดเหตุทะเลาะกับลูกหลานนั้น ผลที่ได้รับ ก็จะมีแต่ความขมขื่นและความเสียใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเองข้อเขียน ที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2515 นั้น จบลงแค่นี้ หลังจากนั้นอีกสิบห้าเดือน ประเทศไทยก็เกิดเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเหตุหนึ่งขึ้น คือเหตุการณ์ 14 ตุลาฯและเพราะเกิดเหตุฯ 14 ตุลาฯ 2516 จึงได้มีเหตุฯ 6 ตุลาคม 2519 เกิดตามขึ้นมาอีก รายละเอียดหรือความสยดสยอง ก็เป็นอย่างที่เพิ่งจะมีการพูดถึงกันอยู่ในช่วงนี้แหละ ต่อจากนั้น ถึงช่วงปี 2521 ถึง 2529 ก็เป็นยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นมีรัฐบาลพลเรือนในรูปแบบ(ที่นัยว่าใกล้เคียง)ประชาธิปไตยเกิดขึ้นนิดหน่อยในช่วงสั้นๆ ก่อนที่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีก แล้วเหตุการณ์พฤษภาฯ(ทมิฬ) 2539 ก็เกิดตามมา การเมืองการปกครองของไทยวนเวียนอยู่ในวงจรเหล่านี้ มาพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆทางด้านเศรษฐกิจของโลก และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดและพัฒนาเร็วขึ้นไปด้วยกัน 2535 ถึง 2559 วงจรนี้ก็ยังวนเวียนอยู่ ขณะที่เศรษฐกิจโตขึ้น เทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้น ความคิดคนส่วนหนึ่งเปลี่ยน แต่ความคิดคนอีกส่วนหนึ่งไม่เคยเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโอกาสใช้หรือใกล้ชิดกับอำนาจ ทุกวันนี้ เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือไม่ดีขึ้น? นั่นคือ สิ่งที่น่าคิด น่าพิจารณา และน่าเป็นห่วง ที่คน ซึ่งมีเจตนาดีที่จะคอยเตือนคอยให้สติ ในยุคนี้ นับวันแต่จะล้มหายตายจากไป อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าถ้า‘คนรุ่นผู้ใหญ่’จะมีความเข้าใจต่อ ‘คนต่างรุ่น’ หรือ ‘ความเห็นต่าง’ ของคนในภาคส่วนต่างๆให้มากขึ้น โดยไม่ยึดแต่ความเห็นของตนที่มีแต่โทสะ โมหะเป็นหลัก แล้ว ผลแห่งการกระทำย่อมส่งผลต่อความดีขึ้น หรือไม่ดีขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงอนาคต จึงขอฝากคำเตือน(อย่างพุทธอย่างไทย)ชิ้นนี้ ให้คนรุ่นผู้ใหญ่ที่ใช้หรือมีอำนาจอยู่ในยุคนี้ ได้โปรดรับไว้พิจารณา ด้วย นี่คือความปรารถนาดีที่จริงใจกับทุกฝ่าย และอยากเห็นสังคมไทยดีขึ้นในอนาคต