เสือตัวที่ 6

พัฒนาการของกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปลายด้ามขวาน เพื่อยับยั้งความขัดแย้งไม่ให้ตกเป็นเงื่อนไขปลุกระดมบ่มเพาะผู้คนในดินแดนแห่งนี้ให้เกิดความเกลียดชังคนที่มีความแตกต่างทางความคิดและวิถีชีวิตให้ลุกลามขยายใหญ่โตจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทั้งทางความคิดและความรุนแรงทางอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐนั้น ได้มีความรุดหน้าไปเป็นลำดับ โดยที่รัฐได้พยายามดำเนินการแก้ปัญหาทั้งการบังคับใช้กฎหมายของประเทศอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของขบวนการที่ยังคงลุ่มหลงติดกับดักการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการอันรุนแรงด้วยกำลังอาวุธอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ฝ่ายขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐในทุกมิติที่เป็นไปได้ ก็ยังคงขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและเป็นระบบมากขึ้น โดยมุ่งเป้าหมายหลักในขณะนี้ ด้วยการคงรักษาและสร้างความเห็นต่างระหว่างคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานกับคนส่วนอื่นของประเทศแห่งนี้อย่างเข้มข้น แม้รัฐจะพยายามสร้างเวทีและโอกาสในการเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเพื่อการแสวงหาทางออกของปัญหาที่ไม่เข้าใจระหว่างกันตามวิถีทางของสันติวิธี ที่เรียกกันว่าการพูดคุยสันติสุขที่กำลังใช้วิถีทางดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐมีเป้าหมายสำคัญคือ การหลอมรวมความคิดความเห็นที่แตกต่างตามแนวทางที่เรียกกันว่าพหุวัฒนธรรมอันสวยงาม เป็นประตูสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างทั้งหลายที่แกนนำขบวนการกลุ่มหนึ่ง ยังคงพยายามปลุกปั่นให้แนวทางดังกล่าว ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ยากมากขึ้น

บนความพยายามแสวงหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งตามกระบวนการพูดคุยสันติสุขดังกล่าวนั้น ได้มีการดำเนินการร่วมกันโดยมีประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดเวทีและสร้างโอกาสการพูดคุยระหว่างคณะผู้แทนของรัฐไทยกับแกนนำผู้แทนของฝ่ายขบวนการต่อสู้กับรัฐที่มีมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเจรจาสันติภาพในปัจจุบันเป็นความต่อเนื่องของกระบวนการเจรจาปี 2556 ตามที่ลงนามโดย อุสตาสฮาซัน ตอยยิบ (Ustaz Hasan Tayyib)  และ พล.อ.ภราดร ซึ่งมีความหมายมากและนำไปสู่ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เรื่อง ฉันทามติทั่วไปของกัวลาลัมเปอร์ เมื่อ 28 ก.พ. 2556 ข้อมูลจากแถลงการณ์ (อับดุล คาริม  ฝ่ายข้อมูล) ของบีอาร์เอ็น เมื่อ 18 ต.ค.2565 ยังคงชี้ชัดถึงความคิดความเห็นที่แตกต่างบนเส้นทางพูดคุยสันติสุขแบบสันติวิธีระหว่างแกนนำขบวนการแห่งนี้กับรัฐอย่างลุ่มลึก ทั้งยังแอบซ่อนความขัดแย้งปะปนไปกับการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีใจความสำคัญที่เน้นว่าบีอาร์เอ็นต้องการข้อตกลงทางการเมืองที่ยั่งยืนซึ่งก็คือ สง่างามและนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนและแท้จริง อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาเกือบสามปี ผู้นำและผู้แทนทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศของบีอาร์เอ็น ยังไม่ได้รับการค้ำประกันความปลอดภัยและภูมิคุ้มกันทางกฎหมาย โดยแถลงการณ์ดังกล่าว อ้างว่าแกนนำของขบวนการต่อสู้กับรัฐแห่งนี้ที่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (ที่ขบวนการพยายามเรียกกระบวนการนี้ว่า การเจรจาสันติภาพ) กำลังถูกคุกคามความปลอดภัยจากรัฐ และพยายามเรียกร้องหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงที่ชัดเจนจากรัฐ ในแถลงการณ์อ้างว่า เหตุการณ์ล่าสุดที่บั่นทอนความไว้วางใจของบีอาร์เอ็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่นายซาห์รี สมาชิกของ บีอาร์เอ็นคนหนึ่ง ถูกสังหาร ซึ่งบีอาร์เอ็นขอประณามอย่างรุนแรงต่อการสังหารครั้งนี้   

แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นดังกล่าว ได้แอบซ่อนความเกลียดชังอย่างรุนแรง สร้างความหวาดระแวงหน่วยงานของรัฐให้เกิดขึ้นในความคิดและจิตใจของคนในพื้นที่แห่งนี้ในวงกว้าง ด้วยการสร้างวาทะกรรมที่สร้างความเกลียดชัง ผ่านข้อความกล่าวหารัฐที่ว่า การเสียชีวิตของแกนนำสำคัญคนหนึ่งของขบวนการแห่งนี้ดังกล่าวข้างต้นเกิดจากการกระทำของรัฐ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานการกล่าวหาที่ชัดเจนแต่อย่างใด โดยแถลงการณ์ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาโดยตรง บีอาร์เอ็นขอประณามการลักพาตัว การฆาตกรรม การจับกุม และการกักขังที่ฝ่าฝืนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเด็กและเยาวชนในชุมชนปัตตานี การกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงทุกรูปแบบที่สมาชิกบีอาร์เอ็นเผชิญ ทั้งในปาตานี ไทยและมาเลเซีย เป็นการดูหมิ่นกระบวนการสันติภาพในปัจจุบัน เหตุการณ์ และการกระทำเช่นนี้บั่นทอนความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพอย่างชัดเจนซึ่งขณะนี้ใกล้จะถึงการเจรจารอบที่ 6 แล้ว อาชญากรรมต่อมนุษยชาติเหล่านี้และการข่มขู่และการบีบบังคับอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น แถลงการณ์นี้ ยังยุยงปลุกปั่นคนในพื้นที่ให้มุ่งมั่นในการต่อสู้กับรัฐอย่างเข้มข้น

บนเส้นทางที่ยากลำบากในกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งวันนี้ ก็เริ่มต้นความแตกต่างที่กระบวนการนี้ที่รัฐเรียกกระบวนการนี้ว่า การพูดคุยสันติสุข ในขณะที่ฝ่ายขบวนการแห่งนี้ เรียกกระบวนการนี้ว่า การเจรจาสันติภาพ เพื่อยกระดับการพูดคุยครั้งนี้ให้มีความสำคัญของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันประหนึ่งว่ารัฐไทยให้การยอมรับขบวนการต่อสู้กับรัฐว่ามีตัวตนอย่างเป็นทางการอันจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการต่อสู้ในเวทีโลกอีกเส้นทางหนึ่ง รวมทั้งการต่อสู้ทางความคิดของแกนนำขบวนการในทุกโอกาสที่เป็นไปได้เพื่อเป้าหมายของพวกเขาคืออิสระในการดูแลปกครองกันเองของคนในพื้นที่แห่งนี้ ด้วยกระบวนเจรจาการพูดคุยอย่างสันติวิธี แทรกปนไปด้วยวาทะกรรมปลุกความเห็นต่างสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานกับการใช้ความรุนแรงดำรงจิตวิญญาณการต่อสู้กับรัฐในทุกมิติ เหล่านี้คือโจทย์ยากที่รัฐต้องตระหนักรู้ เร่งศึกษาวิธีคิดฝ่ายขบวนการเพื่อปรับกลยุทธ์การต่อสู้ทางความคิดที่ไม่มีวันจบ ให้เป็นแนวทางเดียวกันตามแนวทางที่ว่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างที่เคยสำเร็จมาแล้วในอดีต มาปรับใช้ในปัจจุบัน เป็นการหลอมรวมทางความคิดต่างสร้างเอกภาพทางความคิดทั้งหน่วยงานของรัฐเองและบูรณาการความคิดที่แตกต่างระหว่างรัฐกับขบวนการนี้ให้เป็นเอกภาพให้จงได้