ปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวม 28 จังหวัด 137 อำเภอ 868 ตำบล 5,866 หมู่บ้าน มีพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบรวม 437,461 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่24ตุลาคม2565) แม้ภาพรวมน้ำเริ่มลดลง แต่ก็มีการแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเพื่ออุดช่องว่างในปัจจุบัน
โดยในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมาสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เปิดผลการศึกษาวิจัยที่ สอวช. ได้นำเสนอผลการศึกษาที่ทำร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ
มีข้อเสนอเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรม คือ การจัดตั้ง "กระทรวงทรัพยากรน้ำ" ที่มีการคำนึงหลักการสากล และการทำงานเชิงแนวดิ่งและแนวนอน มีนวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการทำงานเชิงระบบ เพื่อแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างก้าวกระโดด และให้เกิดการแบ่งประเภทของหน่วยงานตามภารกิจหลัก ให้ชัดเจน ปรับบทบาท หน้าที่และอำนาจ และโครงสร้าง ลดบทบาทการทำงานทับซ้อน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการการทำงานที่เป็นเอกภาพ และสร้างหน่วยงานอัจฉริยะ "สำนักงานเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรมด้านบริหารจัดการน้ำ" เพื่อเป็นมันสมอง ให้กับกระทรวงฯ ใช้รับมือกับปัญหาปัจจุบัน และความท้าทายใหม่ ๆ ในบริบทอนาคตได้อย่างเท่าทันและเชิงรุก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านย่อมต้องการการเตรียมตัว และการปรับตัว จึงต้องมีกระบวนการ และกลไกสนับสนุน ติดตามงานที่จำเป็นในการปรับตัวทั้งระดับองค์กร และบุคคล เพื่อลดแรงเสียดทานและผลกระทบที่จะเกิดล่วงหน้า โดยแบ่งแนวทางการเปลี่ยนผ่านเป็น 2 ช่วงใหญ่คือ Quick Win และ Big Win โดย Quick Win ประกอบด้วย
1.จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายฯ ในประเด็นที่ยังคงเป็นช่องว่าง รวมถึงรองรับการตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ และประเด็นที่สำคัญ
2. จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ/อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้การดำเนินการในระดับลุ่มน้ำและจังหวัด มีความต่อเนื่องและรองรับการทำงานของกรรมการลุ่มน้ำ และอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เชื่อมโยงเชิงพื้นที่ ลุ่มน้ำ และส่วนกลาง
3.จัดตั้งโครงการ Water Resources Intelligent Unit (WRIU) ภายใต้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยมีคณะอนุกรรมการแต่งตั้งจาก กนช. ให้เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวในการทำงานและตรวจสอบได้ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่โครงสร้างในระบบการบริหารจัดการน้ำใหม่ สำหรับช่วง Big Win เป็นการทำงานสอดรับกับช่วง Quick Win โดยเป็นช่วงขึ้นรูปกระทรวงทรัพยากรน้ำตามที่คณะทำงานด้านกฎหมายได้มีการออกแบบและ การจัดตั้งหน่วยงาน "Water Resources Intelligent Agency” ที่สมบูรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ เราเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำไม่ซ้ำซ้อนในหน่วยงานต่างๆ แต่ด้วยระยะเวลาในช่วงท้ายของรัฐบาล จึงไม่อาจคาดหวังว่าจะได้เห็นการขับเคลื่อนผลการศึกษาออกมาเป็นรูปธรรมหรือไม่ อีกทั้งเราเห็นว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองควรนำเสนอนโยบายเรื่องบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ