กรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอข่าวแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ทวงถามหนี้เงินกู้ พร้อมชักชวนให้ทำการกู้เงินในวงเงินเพิ่มเติม หากไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดจะทำการประจานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงจะลงพื้นที่ไปติดตามทวงถามหนี้เงินกู้ถึงบ้าน และมีการข่มขู่จะใช้ความรุนแรง ทั้งที่ผู้ได้รับข้อความทางไลน์นั้น ไม่ได้มีการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด

เรื่องนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชอาญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) สั่งการไปยังกองบังคับการในสังกัด เร่งทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างจริงจังต่อเนื่องเด็ดขาด พร้อมสร้างการรับรู้ถึงแนวทางป้องกันภัยให้ประชาชนทราบการกระทำลักษณะดังกล่าว หากมีการตัดต่อ แต่งเติม ดัดแปลงภาพ บิดเบือนข้อมูล หรือนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท รวมถึงหากมีการทวงหนี้โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่น หรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท และการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พร้อมกันนี้ ยังแนะถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงและทวงหนี้นอกระบบด้วยรูปแบบต่างๆ พร้อมแนวทางการป้องกัน ดังนี้

“...1.หากถูกแก๊งทวงหนี้แอบอ้าง ข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ หรือให้ความช่วยเหลือ

2.ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง

3.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงินควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ เพราะมีสัญญาเงินกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรมมากกว่า

4.วางแผนรายรับรายจ่ายล่วงหน้า และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันปัญหาเงินไม่พอใช้ ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อหนี้ หรือการกู้เงิน

5.อย่าลงโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่นเงินกู้เถื่อนใดๆ โดยเด็ดขาด เพราะข้อมูลส่วนตัวของท่านและข้อมูลอื่นๆ ในโทรศัพท์จะตกอยู่ในมือคนร้ายทันที

6.ติดตามข่าวสารกลโกงของมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อกลโกงใหม่ๆ พร้อมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกู้เกิน และจำไว้เสมอว่าตามกฎหมายดอกเบี้ยเงินกู้ต้องไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือ 1.25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน...”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการไปเรื่อยๆ และมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นอกจากจะเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนรู้เท่าทันเพื่อระวังป้องกันแล้ว กระบวนการในการสกัดบรรดามิจฉาชีพทั้งหลายในโลกออนไลน์ ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและทักษะที่ตรวจจับความผิดนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่ง