ทวี สุรฤทธิกุล

บางทีหลังเลือกตั้งครั้งต่อไป นายกรัฐมนตรีก็ยังคงเป็นทหารและรัฐบาลของข้าราชการประจำ

คนที่ติดตามการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค และไลน์ คงจะสังเกตเห็นว่ามีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นปกติ ด้วยการแสดงความคิดเห็นที่ชื่นชมหรือสรรเสริญต่อนักการเมืองที่สมาชิกในกลุ่มรัก พร้อมกับการค่อนแคะนินทาจนถึงประณามนักการเมืองที่ทางกลุ่มรังเกียจ บางกลุ่มก็มีการแสดงออกอย่างใช้เหตุใช้ผล แต่ส่วนใหญ่นั้นมักจะแสดงออกด้วยอารมณ์ หรือ “พากันไปทั้งกลุ่ม” เพราะถ้าไม่แสดงอารมณ์ไปตามกระแสของกลุ่ม ก็อาจจะทำให้อยู่ในกลุ่มนั้นลำบาก จนถึงขั้นถูกกำจัดออกจากกลุ่มไปในที่สุด

ในไลน์ของกลุ่มศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเก่าแก่กลุ่มหนึ่ง ขณะนี้มีการรณรงค์ประณามองค์การบริหารของนิสิต ที่นำเสนอบทกลอน “เสียดสี” สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับนิ่งเฉย จนขั้นที่มีนิสิตเก่าบางคนเสนอให้คืนที่ดินที่พระราชทานให้สร้างมหาวิทยาลัย พร้อมกับให้ถวายพระนามที่ทรงพระราชทานให้เป็นชื่อมหาวิทยาลัยนั้นคืนสู่พระมหากษัตริย์เสีย นับว่าเป็นการแสดงออกที่รุนแรงมาก แต่กระนั้นทางมหาวิทยาลัยก็ยังนิ่งเฉย เหมือนกับที่ได้นิ่งเฉยในเรื่องแบบนี้มาหลายกรณี จนถึงขั้นที่สมาชิกในกลุ่มไลน์บางคนอยากจะออกจากความเป็นนิสิตเก่าของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นให้พ้น ๆ ไป

ก่อนหน้านั้นกลุ่มไลน์กลุ่มนี้ก็มีการแสดงออกทางการเมืองอยู่เสมอ ที่แสดงอยู่เป็นประจำก็คือ “เชียร์ลุง” จนมีบางคนเรียกกลุ่มแบบนี้ว่า “สลิ่ม” ซึ่งก็มีเหตุมีผลที่น่าสนใจ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มก็คือผู้อาวุโส หลายคนเกษียณจากราชการและงานประจำ สถานะทางสังคมก็อยู่ในระดับบน บางคนก็เคยเป็น “อำมาตย์” หรืออย่างน้อยก็ผู้บริหารในหน่วยงานต่าง ๆ ในตำรารัฐศาสตร์เรียกพฤติกรรมทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ว่า “อนุรักษ์นิยม” คือยังยึดติดกับการเมืองเชิงความมั่นคง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และมักจะขัดแย้งกับคนรุ่นใหม่ (มองย้อนกลับไป ที่จริงคนกลุ่มนี้เมื่อตอนที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาก็เป็นพวกหัวรุนแรงอยู่เยอะ รวมถึงที่เมื่อจบออกมาทำงานแล้วก็มักจะมีบทบาทเป็นพวก “คนรุ่นใหม่ไฟแรง” หรือหัวก้าวหน้าอยู่เหมือนกัน แต่พอเติบโตก้าวหน้าขึ้นไป ก็ไปเจอ “คอมฟอร์ตโซน” หรือมีความสุขความพอใจกับสถานภาพตรงนั้น จึงปล่อยตัวลอยไปตามกระแสหรือวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นนำนั้นในที่สุด) ซึ่งคนในวัฒนธรรมแบบนี้น่าจะมีอยู่มากที่สุดในสังคมไทย รวมถึงมีอิทธิพลต่อความเป็นไปในสังคมในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมากด้วย

ผู้เขียนขอยืนยันในปรากฏการณ์ “อนุรักษ์นิยมครอบสังคมไทย” นี้อย่างแข็งขัน ส่วนหนึ่งก็คือได้เรียนด้านสอนมาทางด้านรัฐศาสตร์ พบข้อมูลที่ยืนยันเรื่องความเป็นอนุรักษ์นิยมของสังคมไทยนี้อยู่ในตำรารัฐศาสตร์ทุกเล่ม  อีกส่วนหนึ่งก็คือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของพวกอนุรักษ์นิยมในทางการเมืองการปกครองไทยมากว่า 40 ปี ตั้งแต่ได้ทำงานในพรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรคเป็นกษัตริย์นิยมเต็มขั้น รวมถึงที่ได้อยู่ในระบบราชการและทำงานในวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมนั้นมาตลอด ที่สุดคือได้มีกิจกรรมร่วมกับกลุ่มอำมาตย์ทางการเมือง จนกระทั้งได้มอบอำนาจทางการเมืองนั้นให้กับกลุ่มอำมาตย์ไปจนหมดสิ้นมาจนถึงวันนี้

พูดจากหัวใจ ผู้เขียนก็คือ “สลิ่ม” คนหนึ่ง แต่ได้กลายเป็น “สังขยา” ในตอนที่มีการเลือกตั้งในปี 2562 นั้นเอง โดยตอนแรกมีความรังเกียจพรรคพลังประชารัฐเป็นกำลัง เพราะดูแล้วก็ไม่แตกต่างจากพรรคการเมืองแบบน้ำเน่าเก่า ๆ ทั้งหลาย ที่รวบรวมเอาบรรดานักการเมือง “น้ำไม่ดี” มาอยู่ในพรรคเป็นจำนวนมาก แล้วพอเลือกตั้งเสร็จก็ใช้เล่ห์กลตามรัฐธรรมนูญ 2560 เสนอพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็ “ถูลู่ถูกัง” ลากรัฐนาวามาอย่างทุลักทุเล โดยไม่เห็นมีวี่แววว่า “พรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้” อย่างที่ผู้นำท่านครางครวญออกมาเป็นเพลง โดยสรุปก็คือ ท่านจัดการกับระบอบทักษิณไม่ได้ (ที่ทำได้บางเรื่องก็เป็นการทำหน้าที่ของศาล) ท่านไม่ได้สร้างสมานฉันท์ในบ้านเมือง (แม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลท่านก็หมดภาวะผู้นำโดยสิ้นเชิง) และท่านก็ไม่ได้สร้างประชาธิปไตย (แต่รักษาอำนาจและความเป็นรัฐกึ่งเผด็จการนี้ไว้สำหรับพวกพ้องของท่าน) นั่นคือ “ความสงบไม่ได้จบที่ลุง” อย่างที่ท่านใช้เป็นสโลแกนช่วยหาเสียงให้พรรคพวก

มีบางคนบอกว่า “ถ้าไม่มีลุง เราไม่ได้อยู่กันอย่างนี้มาถึงแปดปีกว่าหรอก” ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำวิจารณ์ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่ผู้เขียนเคยทำงานรับใช้ท่านอยู่หลายปี ตอนนั้นท่านนำพรรคกิจสังคมไปช่วยค้ำจุนรัฐบาลให้กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีคนพูดทำนองว่า “ป๋าเปรม” นั้นเก่ง เอาทหารอยู่ (แต่ก็โดนลอบสังหารอยู่หลายครั้ง กับกบฏอีก 2 ครั้ง) เพราะมีบารมีมาก (แต่ลึก ๆ นั้นมีอีกหลาย ๆ บารมีที่ค้ำจุน รวมถึงบารมีของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นด้วย) ที่สำคัญประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ยุคนั้นเป็นยุคที่ “โชติช่วงชัชวาล” ที่สุด คือเศรษฐกิจไทยดีมาก ๆ จนถึงขั้นชื่นชมว่าเป็นเพราะฝีมือของป๋านั่นเอง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “คุณเปรมเอาตัวรอดได้ด้วยฝีมือของข้าราชการ” รัฐบาลพลเอกเปรมมีผู้นำของข้าราชการรุ่นใหม่ ที่เรียกกันในยุคนั้นว่า “เทคโนแครต” มาเป็นมันสองให้กับรัฐบาล แล้วข้าราชการก็รักพลเอกเปรมเพราะท่านรักสถาบัน ซึ่งข้าราชการกับสถาบันนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่ง ข้าราชการจึงไม่ก่อกวนหนือต่อต้านรัฐบาล และร่วมมือเอานโยบายของรัฐบาลไปทำออกมาเป็นผลงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ข้าราชการรู้สึกมีความมั่นคงเพราะพลเอกเปรมก็เป็นข้าราชการด้วยกัน การทำงานด้วยความรู้สึกมั่นคงที่จะไม่ถูกนักการเมืองกลั่นแกล้งอย่างนี้ทำให้ข้าราชการพอใจ และสร้างความ “สงบสุข” ให้กับรัฐบาล ตรงกันข้าม ในสมัยที่มีรัฐบาลที่ผู้นำมาจากการเลือกตั้งและรัฐมนตรีกับ ส.ส.หลายคนก็ซื้อเสียงใช้อิทธิพลเข้ามา ข้าราชการจึงไม่ค่อยสบายใจ ไม่มีความสุขกับการทำงาน เพราะกังวลในความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง สิ่งนี้จึงทำให้บรรยากาศทางการเมืองในยุคของ “นักลากตั้ง” ปั่นป่วนและไม่สงบสุขตามไปด้วย

ไม่เชื่อก็เปรียบเทียบ การเมืองไทยยุคป๋าเปรมกับน้าชาติ หรือ นช.ทักษิณกับลุงนี้ดูก็ได้

ผู้เขียนจั่วหัวไว้ว่า เลือกตั้งครั้งต่อไปนายกรัฐมนตรีก็น่าจะเป็นทหารอีกนั่นแหละ ก็เพราะเชื่อในพลังอนุรักษ์นิยมนี้ว่ายังครอบงำสังคมไทยไปอีกสักระยะ ยังเชื่อว่าลุงยังมี “บารมี” แถมยังมี “ป๋าวิด” ช่วยค้ำจุนบัลลังก์ให้อีกด้วย (ข้อหลังนี้ชักไม่แน่ใจเท่าไหร่ เพราะดูลุงกับป๋าจะขัด ๆ กันอย่างแรงหลายเรื่อง) แต่ถ้าพลาดไปจากลุง ก็น่าจะมี “ลุง ๆ น้า ๆอา ๆ” นายทหารคนอื่นที่ถูกมอบ “บารมี” ให้มาทำหน้าที่แทนลุงก็ได้

พวกนักลากตั้งและผู้ลงคะแนนเสียงอย่าได้คิดสะเออะไปแข่ง “บารมี” กับท่านนั้นเชียว