ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

“เดี่ยว สมเด็จ,เทิด  ยอดธง,ดอน ท่ากระดาน,ยอด  นางพญา กริ่ง  คลองตะเคียน” เจ้าของนามปากกา “ดาเรศร์” ไล่ชื่อตัวละครจากนวนิยายเรื่อง“เสาร์ 5” ทีละตัวด้วยจังหวะเนิบช้า เมื่อถูกทดสอบความจำในงานวันเกิด ครั้งที่ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร หรือ “ดาเรศร์” มีอายุ 79 ปี ซึ่งสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยจัดให้ทุกปี โดยมีสุพจน์ ชีรานนท์ นักกลอนอาวุโสและบรรณาธิการนิตยสารมวยโลก รายสัปดาห์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงานเหมือนทุกปี

ปีนั้นเป็นปี 2552 ยุทธ  โตอติเทพ เป็นนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย  เขานั่นแหละเป็นคนทดสอบ ด้วยความสนิทสนมและเคารพนับถือ “ดาเรศร์” ยังมีความจำดีในชื่อตัวละครเอกทั้ง 5 ในนวนิยายเรื่อง “เสาร์ 5” ทั้งที่เขียนมาตั้งแต่หนุ่มรุ่น

ถ้าเอ่ยชื่อนวนิยายเรื่อง “เสาร์ 5” นักอ่านรุ่นเก่าจะรู้จักกัน  ภายหลังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เมื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7 ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกออกอากาศเมื่อปี 2552 ครั้งที่ 2  เมื่อต้นปี 2565  กระแสมาแรง ได้รับความนิยมจากคนดูมาก จนเรตติ้งสูงเป็นอันดับ 1 หากก่อนหน้านี้เป็นเวลาเกือบ 50 ปีคือ ปี 2519  “เสาร์ 5” ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ตระการ ดังกระหึ่มทั่วฟ้าเมืองไทยและทำรายได้มาก

“เสาร์ 5” เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ดาเรศร์เขียนลงนิตยสารบางกอก เมื่ออายุ 20 ปี นิตยสารบางกอกเป็นนิตยสารแนวบู๊โลดโผนรายสัปดาห์ที่เป็นตำนานของเมืองไทย มีนักเขียนนามกระฉ่อนแจ้งเกิดที่เวทีแห่งนี้หลายคนได้แก่ ศักดิ์ สุริยา ผู้เขียน ชุมแพ เพชร สถาบัน ผู้เขียน สมิงเจ้าท่า  เสนีย์ บุษปะเกศ ผู้เขียน คมแฝก และอีกมากมาย ฯลฯ

นวนิยายเรื่อง “เสาร์ 5” ได้รับการต้อนรับจากคนอ่านอย่างมากมาย จึงมีนวนิยายตามมาอีกได้แก่ ขุนกระทิง,นักฆ่าขนตางอน เป็นอาทิ  นวนิยายเรื่อง “นักฆ่าขนตางอน”เป็นอีกเรื่องที่นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7 โดยผู้กำกับมือทอง-ฉลอง ภักดีวิจิตร

จากนั้นก็มีนวนิยายเรื่องที่ 3 “ขุนกระทิง” โลดแล่นอวดสายตาแฟนหนังสือบางกอก  นวนิยายเรื่อง “เสาร์ 5” พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2519 โดยสำนักพิมพ์วรรณพร แบ่งเป็น 2 เล่มจบ ราคาเล่มละ 15 บาท

นวนิยายรื่อง “เสาร์ 5” ดาเรศร์ นำข้อมูลอันน้อยนิดมาจากความเชื่อตามคติโบราณ นั่นก็ คือ วันเสาร์ ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5  หากมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในวันเสาร์ 5 จะมีพุทธาดานคงกระพันและแคล้วคลาดมากกว่าวันปกติ

 

ถือว่าเป็นวันธงไชยและเป็นมายาศาสตร์เจือพุทธคุณที่เชื่อกันมา จนกลายเป็นประเพณีนิยมในหมู่คนที่มีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เพราะดาวเสาร์เป็นดาวแห่งความเข้มแข็งและมีพลังมาก

ความเชื่อนี้ได้ถูกผูกเป็นเรื่องราวสนุกตื่นเต้น โดยเปิดเรื่องให้พระที่เล่าเรื่องพระภิกษุทั้งห้าองค์นั่งปรกตลอดคืน เพื่อปลุกเสกวัตถุมงคลในวันเสาร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 5 พระภิกษุทั้งห้าองค์มีพระเครื่องที่เก่าแก่และรักที่สุดคนละองค์คือ พระกริ่ง คลองตะเคียน พระยอดธง พระท่ากระดาน พระสมเด็จและพระนางพญา

หลังจากปลุกเสกพระเครื่องทั้งห้าองค์เสร็จ ก็จะหาเด็กที่เกิดในฤกษ์ยามเดียวกับเสาร์ 5 ทั้ง 5 คนและต้องเป็นผู้ชาย เพื่อมอบพระเครื่องที่ปลุกเสกให้ แล้วจะเปลี่ยนสกุลของเด็กทั้งห้าคนเป็นสกุลพระเครื่องทุกคน นั่นก็คือ เทิด  ยอดธง,กริ่ง  คลองตะเคียน,ดอน ท่ากระดาน,ยอด นางพญาและเดี่ยว สมเด็จ ซึ่งผู้ชายทั้งห้าคนมีคณสมบัติพิเศษในเรื่องไสยศาสตร์คนละอย่าง

ดาเรศร์ช่างจินตนาการ จนกลายเป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวสนุกสนาน เป็นที่ติดอกติดใจของคนอ่าน ภายในหนังสือนวนิยายเรื่อง “เสาร์ 5” มีภาพพระภิกษุรูปหนึ่ง พร้อมข้อความว่า “พระกรุณาธิคุณ คุ้มเกล้า ดาเรศร์”  

เมื่อสอบถามลูกสาวของ “ลุงประสิทธิ์”หรือดาเรศร์-อรสา โรหิตเสถียร ว่า ภาพพระภิกษุคือใคร ได้รับคำตอบที่ไม่เคยมีใครสงสัยจะถามว่า...

“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระราชทานนามปากกา ดาเรศร์”

คุณอรสา นิคเนม “อ้อม”ส่งรูปให้ทางไลน์ มีข้อความใต้รูปเรียงกันเป็นบรรทัดว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ)  พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลามรามราชวรมหาวิหาร”

ภายหลังนวนิยายเรื่อง “เสาร์ 5” สำนักพิมพ์ Book Smile ได้นำมาพิมพ์รวมเล่มใหม่  พอจะพิมพ์นวนิยายเรื่อง“นักฆ่าขนตางอน” ปรากฏว่าต้นฉบับขาดไป 11 ตอน หาต้นฉบับกันใหญ่ จึงไปได้ต้นฉบับที่หอสมุดแห่งชาติ  ปรากฏว่ามีครบทั้ง 45 ตอน

นอกจากนวนิยายตีพิมพ์ในนิตยสารบางกอกในนามปากกา “ดาเรศร์”แล้ว  ด้วยชื่อเสียงที่ดังกระฉ่อนในขณะนั้น จึงมีผลงานนวนิยายอีกมากมายในนิตยสารแปลก,ดวงเศรษฐี,มหาลาภ ฯลฯ  รวมแล้วมีผลงานกว่า 30 เรื่องได้แก่ นักเลงปักหลั่น สักธนูมือ มือปราบจตุรธาตุ นักสู้สี่ทิศ จักรนารายณ์ คัมภีร์สีเลือด ผีเพื่อนรัก ดาวเล่นไฟ เส้นทางราชสีห์ เจ้าหนูทะลุโลก  เจ้านางสันตวานี สาลิกาปืนทอง เนื้อหอมจอมโหด  อสูรมิตร ศึกไสยศาสตร์ ดาวเล่นไฟ นักล่าชฎาทอง คัมภีร์อาบ

เลือด มาลัยรจนา  อสูรกลางเมือง เป็นอาทิโดยใช้นามปากกาต่าง ๆกันคือ ไท เทพราช  ไปร ปัทมา ทัต เทพาลัย  สิงห์ สุริยา และ อ. สิทธิลาภ  ส่วนผลงานเรื่องสั้นเขียนไว้ประมาณ 20 เรื่อง

ผมได้พบและรู้จักนักเขียน-นักกลอนอาวุโสผู้นี้มานานปี แม้จะไม่นานเท่าคนอื่น ๆ แต่ภาพที่ได้เห็นก็คือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีความโอบอ้อมอารี ไม่เคยโกรธใคร ดังที่ยุรี  คุณกิตติ นักกลอนอาวุโสคนหนึ่งกล่าวในงานวันเกิดประโยคหนึ่งว่า

“ลุงเป็นคนดีไม่เคยโกรธใคร ถ้าใครทำให้ลุงประสิทธิ์โกรธ นับว่าซวยที่สุดในโลก”

ดาเรศร์เขียนนวนิยายเรื่องแรก “เสาร์5” ครั้งที่เป็นข้าราชการกรมรถไฟและนวนิยายเรื่องต่อๆ มาอีกมากมายดังที่กล่าวข้างต้น  ภายหลังได้หันไปเขียนร้อยกรองประเภทกลอนสุภาพ ส่งเข้าประกวดในที่ต่างๆ ได้รับรางวัลหลายรางวัล 

บทกลอนชื่อ “เลือดสุพรรณ” ได้รับรางวัลโล่ทองคำ โคลงลิลิต“วันมหาวิปโยค” ได้รับรางวัลจากมูลนิธิ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประมาณปี 2517  มีความยาว 239 บท เขียนจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม 2516 ขณะเดินทางไปเรียนแต่งเพลงกับครูสุรพล แสงเอกที่ศรีย่าน ทำให้เกิดความสะเทือนใจเป็นอย่างมาก จนต้องเขียนออกมาเผยแพร่และได้รับรางวัลดังกล่าว

ในบทบาทของนักกลอน ประสิทธิ์ โรหิตเสถียรเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “สมาคมชมรมนักกลอนแห่งกรุงสยาม” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย” และเป็นนายกสมาคมฯคนแรกเมื่อปี 2521-2522 แล้วเป็นต่อสมัยที่ 2 เมื่อปี 2523-2524 แล้วกลับมาเป็นนายกสมาคมฯอีกครั้งในปี 2529-2531 ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักกลอนฯ ถึง 3 สมัยเป็นคนแรกและคนเดียว

ผลงานในวงการนักกลอนนั้น ได้ร่วมแข่งขันประชันกลอนสดทางช่อง 4 บางขุนพรหม จัดโดยจำนง รังสิกุล ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และที่อื่น ๆ หลายครั้ง ถือว่าเป็นรายการยอดฮิตในสมัยนั้นและได้รับรางวัลทุกครั้ง

ผลงานกลอนรวมเล่มกับนักกลอนหลายคนมีหลายเล่ม เท่าที่มีข้อมูลคือเล่มที่ชื่อ “ผีเสื้อ

หลากสี”มีผลงานของนักกลอน 6 คนคือ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ธัญญา ธัญญามาศ  เอนก แจ่มขำ ทวีสุข ทองถาวร สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ เผด็จ บุญหนุน โดยมีวาสนา บุญสม เป็นบรรณาธิการ สำหรับผลงานกลอนเดี่ยวชื่อ “จำเลยไม่พูด” ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติประจำปี 2533 และได้รับการจัดพิมพ์ 3 ครั้ง

“ถ้าความรักพูดได้เหมือนใจพูด
คงพิสูจน์ความซื่อคนถือสัตย์
ให้คนชังสังเกตเหตุผลชัด
ไม่อึดอัดล้าลาญอารมณ์..."

นี่คือวรรคทองที่คนในหนังสือบทกลอน “จำเลยพูด”ที่คนในวงการกลอนต่างก็จำได้

(อ่านต่อตอนหน้า)

“แม้จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงเพียงใด ถ้าบกพร่องต่อการประมาณตนในทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ วิชาต่าง ๆ ที่ได้เล่าเรียนมาจนสำเร็จนั้นก็ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถจะนำความเจริญมาสู่ตน และประเทศชาติสมดังความปรารถนา”(พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 9)