จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อันเกี่ยวเนื่องมาจากปัญหายาเสพติด กลายเป็นบทสะท้อนที่อารมณ์ของผู้คนในสังคม และข้อกังวลถึงทัศนคติที่มีต่อผู้ป่วยที่เปลี่ยนไปหรือไม่

จากผลสำรวจความคิดเห็นของ“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ล่าสุด ที่อ้างผลการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง ในประเด็นเรื่องความคิดเห็นของประชาชนต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.15 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะควรมีบทลงโทษเพื่อป้องกันผู้เสพหน้าใหม่ผู้เสพอาจกลายเป็นผู้ขายเนื่องจากไม่เกรงกลัวบทลงโทษตามกฎหมาย

ขณะที่บางส่วนระบุว่าผู้เสพไม่มีความตั้งใจที่จะเข้ารับการบำบัดตั้งแต่ต้นอาจกลับมาติดยาเสพติดซ้ำ รองลงมา ร้อยละ 20.31 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะ ผู้เสพอาจเป็นผู้หลงผิดจึงควรได้รับการบำบัดรักษา เป็นการให้โอกาสในการปรับตัวกลับเข้าสู่สังคมและผู้เสพที่เป็นเยาวชนมีจำนวนมากควรใช้วิธีการบำบัดแทนการจำคุก ร้อยละ 15.57 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะผู้เสพที่ต้องการเลิกยาเสพติดสามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี ขณะที่บางส่วนระบุว่าการบำบัดเป็นการช่วยแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังการสื่อสารที่อาจส่งผลให้เกิดการตีตราผู้ติดยาเสพติด เกิดอคติแบบเหมารวม ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์ต่อการยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษา โดยเฉพาะในครอบครัว และชุมชน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เกิดขึ้น

ยิ่งในช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงสร้างแรงกดดันให้เกิดกับรัฐบาล โดยเฉพาะการหยิบยกเอาวาทะ “ทำสงครามกับยาเสพติด” ได้หวนกลับคืนมาอีกครั้งในสื่อบางราย ทั้งที่ไม่มีการสื่อสารข้อความดังกล่าวออกมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  อาจทำให้ภาพในอดีตหวนคืนกลับมา กระตุ้นให้เกิดความกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้มีการปกปิดสถานะของผู้เสพมากขึ้น อาจทำให้ครอบครัว ชุมชน เข้าไปช่วยเหลือได้ยากขึ้นหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องขบคิด

ดังนั้น กระแสและอารมณ์ของสังคมที่มีต่อผู้เสพ ที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางไปนี้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งลงลึกในรายละเอียด เร่งสกัดจากสัญญาณอันตรายนี้ ไม่ให้บานปลายกลายเป็นไฟลามทุ่ง