เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

คำสอนของคนโบราณที่ถ่ายทอดทางการบอกเล่า ทางวรรณคดี สุภาษิต คำพยากรณ์ มีการตีความแตกต่างกัน แล้วแต่จะใช้เครื่องมืออะไรในการ “ถอดรหัส”

“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” สำนวนเก่า ปรากฏครั้งแรกในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ราชบัณฑิตยสถานบอกว่า หมายถึงยุคที่มีความวิปริต กระเบื้องซึ่งมีน้ำหนักมาก ปกติจะจมน้ำ กลับลอยน้ำได้ เปรียบเหมือนคนชั่วที่เฟื่องฟูได้ดี ส่วนลูกน้ำเต้าแห้งซึ่งปกติลอยน้ำได้ กลับจมน้ำลงไป เปรียบได้กับคนดีที่กลับตกต่ำ คนชั่วรุ่งเรืองกว่าคนดี

การตีความข้อความใดที่ได้มาจากอดีต ควรต้องวิเคราะห์เจาะลึกว่า ใครเป็นคนพูดคนเขียน ข้อความเหล่านั้นเขาเข้ารหัสกันไว้อย่างไร บริบททางสังคมวัฒนธรรมและโลกทัศน์ชีวทัศน์ในขณะนั้นเป็นอย่างไร เขาต้องการ “ซ่อน” ความหมายที่ลึกกว่าที่ปรากฏตามตัวอักษรว่าอย่างไร

ถ้ามาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาจริง คงเป็นยุคสมัยที่การช่วงชิงอำนาจการเป็นเจ้าผู้ปกครองนั้นรุนแรงมาก มีความพยายามก่อกบฏหลายครั้ง และเมื่อฝ่ายหนึ่งได้อำนาจมา ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจก็ย่อมรู้สึกว่า ตนเองเป็นฝ่าย “ธรรมะ” และฝ่ายที่ครองอำนาจเป็นฝ่าย “อธรรม”  

แต่ถ้าให้ใช้อีกเครื่องมือหนึ่ง กรอบคิดหนึ่งอย่าง “มาร์กซิสต์” ถอดรหัสก็จะได้ความหมายว่า คนยากคนจน ชาวนา กรรมกร (ที่ถูกเรียกว่าขี้ครอก ชนชั้นล่าง คนชายขอบ) จะกลับขึ้นมามีอำนาจแทนอำนาจเก่าผู้ดีเดิม เหมือนผญาอีสานที่ว่า “อัศจรรย์ใจกุ้ง กุมกินปลาบึกใหญ่  ปลาซิวไล่สวบแข้ หนีไปลี้อยู่หลืบหิน”

ความหมาย คือกุ้งตัวเล็กๆ ไล่กินปลาบึก ปลาซิวไล่กัดจระเข้ และยังมีต่ออีกว่า “เอี่ยนเปิดน้ำ หนีจากวังตม มันสิไปแปงฮวงฮังอยู่เทิงปายไม้”  ปลาไหลเบื่อน้ำจะไม่อยู่ในโคลนตม จะไปทำรังอยู่บนต้นไม้

บริบททางสังคมในอดีตนั้นมีปัญหารอบด้านไม่น้อย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ หมอยาหาได้ยาก มีปัญหาฝนแล้งน้ำท่วม ข้าวยากหมากแพง โจรโขมยวัวควาย แล้วยังต้องส่งส่วยข้าวปลาอาหารให้รัฐให้หลวง ที่เกณฑ์ผู้ชายไปทำงาน ไปรบ ต้องเสียส่วยเสียภาษีอีก แม้เป็นเงิน 4 บาทในรัชกาลที่ 5 และพิ่มเป็น 6 บาทในรัชกาลที่ 6 ก็เป็นเงินจำนวนมากพอซื้อควายได้หนึ่งตัว ซึ่งชาวบ้านไม่รู้จะไปหาเงินได้ที่ไหน

จึงเกิดกบฏ หรือการแข็งข้อแข็งเมืองตลอดประวัติศาสตร์ ในยุครัตนโกสินทร์เกิดขึ้นที่อีสานมากที่สุด 8 ครั้ง โดยเฉพาะระยะร้อยปีเศษมานี้เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่โด่งดังที่สุดคงเป็นกบฏผู้มีบุญ (2444-2445) และที่ “ฮือฮา” มากที่สุด คงเป็นที่หนองหมากแก้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (2467)

กบฏผู้มีบุญอาศัยความเชื่อของชาวบ้านบอกว่าถึงยุคพระศรีอาริย์แล้ว  จึงมีคนที่ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญที่มาพร้อมกับ “การบอกเล่า” (narratives) ที่สร้างความหวังให้กับชาวบ้านว่า ถึงยุคที่จะพ้นทุกข์กันแล้ว

ผู้มีบุญทั่วอีสานในกบฏนี้มีถึง 60 คน ใน 13 จังหวัด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด สกลนคร ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ซึ่งไม่นานก็ถูกปราบ  เพราะกำลังคนและอาวุธมีน้อย ไม่มีการประสานพลังระหว่างจังหวัดต่างๆ ด้วยระยะทางที่ไกลกันมาก

สาเหตุของการก่อกบฏที่ภาคอีสาน นอกจากปัญหาการดำเนินชีวิตที่ยากลำบาก การเสียส่วย การเกณฑ์แรงงาน แล้วคงมีสาเหตุทางการเมือง สำนึกของคนอีสานยังมีความผูกพันทางสังคมวัฒนธรรมกับลาว คนอีสานรู้สึกเป็น “ลาวอีสาน” มาจนถึงไม่กี่สิบปีมานี้ที่คำว่า “ลาว” ถูกกลบและลบเลือนไป กลายเป็น “คนอีสาน”

โดยสำนึกความเป็น “ลาว” และความยากลำบากทางเศรษฐกิจสังคม การปล่อยข่าวลือ คำพยากรณ์ ก่อให้เกิดความเชื่อว่าผู้มีบุญมาปลดปล่อยให้พ้นทุกข์ เนื้อหาวิธีการกระจายข่าวที่เหมาะสมกับยุคสมัยนั้น คือ ข่าวลือ ปากต่อปาก และจดหมายลูกโซ่ การปลุกระดมด้วยสำนวนโวหารที่ปลุกเร้าอารมณ์คงไม่ต่างจากนักการเมืองวันนี้เท่าใดนัก

การส่งต่อปัญหาความทุกข์ยากของคนอีสาน การกดขี่ข่มเหง ความไม่เป็นธรรมต่างๆ  โจมตีคนไทยว่าใจร้ายและสาปแช่งคนไทยให้ตาย “ฝูงไทยใจฮ้าย ตายสิ้นบ่หลอ” หรือไม่ก็ปลุกระดมไล่คนไทย “ไล่ไทยเอาดินคืนมา ฆ่าไทยเสียให้หมด”

ร้อยกว่าปีก่อน คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้หนังสือ แต่ข้าราชการ ผู้นำในท้องถิ่น พระสงฆ์องค์เจ้า คนบวชเรียนอ่านออกเขียนได้ จึงเกิด “จดหมายลูกโซ่” ในการเผยแพร่ข้อมูลในยุคนั้น ข้อมูลเพื่อการปลุกระดม ข้อมูลปัญหา และทางออก โดยเฉพาะที่แพร่ไปในรูปแบบของคำพยากรณ์ ที่ผู้คนเชื่อและกลัวกัน เพราะมีการบรรยายด้วยภาษาที่เข้าถึงอารมณ์ผู้คน ชาวบ้านเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เวรกรรม ตำนานมากกว่า “ความจริง”

ที่สำคัญคือข้อสรุปสุดท้ายอย่างกรณีที่กบฏหนองหมากแก้วที่ว่า “ต่อไปจะไม่มีเจ้ามีนาย ใบไม้จะเป็นเงินเป็นคำ” (ทอง)  ฟังดูอาจจะเหมือนโกหก แต่ในบริบทของอารมณ์และความเชื่อของคนโบราณและวันนี้ที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก เรื่องอย่างนี้ “ฟังได้ เชื่อได้ ไม่น่าเกลียด” เพราะคนกำลังทุกข์ ต้องการผู้มาช่วยปลดปล่อยจากความสิ้นหวัง ให้ความหวังเหมือนวันนี้ที่คอยหวยออกวันที่ 1 และ 16

จดหมายลูกโซ่ที่เรียกว่าหนังสือพยากรณ์ของผู้มีบุญที่กล่าวมานี้ มีลักษณะคล้ายกันคือ ทำนายว่าจะเกิดภัยพิบัติต่างๆ ทำให้ข่าวลือกระจายไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีการย้ำว่า ถ้าไม่คัดลอกหนังสือดังกล่าว ไม่บอกต่อจะเกิดภัยพิบัติต่อชีวิตของตนและคนในครอบครัว การแพร่ข่าวลือจึงออกไปอย่างกว้างขวาง

กบฏที่ประกาศตนเป็น “ผู้มีบุญ” วันนั้น กับ “นักการเมือง” วันนี้ (ที่ทำตัวเหมือนผู้มีบุญ) มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือการปลุกเร้าอารมณ์คนด้วยข้อมูลข่าวสารและเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องจริง (ที่ภาษาฝรั่งเรียกคนประเภทนี้ว่า demagogue)  ที่พูดอะไรก็ได้

ไม่ต้อง “ถูกต้อง” ขอให้ “ถูกใจ” ให้ความหวัง และทำให้คนทำตามเท่านั้น