แม้จะมาช้า แต่ก็มา สำหรับการยกเครื่องปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลประชาชน จากรัฐบาลผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ถือเป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าจับตาในการปรับปรุงให้กระบวนการให้ความช่วยเหลือและคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ให้รวดเร็ว ตรวจสอบได้และมีความเป็นธรรม

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมารับทราบและเห็นชอบการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับหน่วยงานเครือข่าย (สปน.) ดังนี้
         

 1. พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์
        

  - ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มของระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ เช่น ระบบติดตามผลเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลความคืบหน้าได้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา และระบบการประเมินติดตามผลความพึงพอใจ โดยประชาชนสามารถประเมินให้กับหน่วยงานได้ทันที
         

 - ด้านกระบวนการและฐานข้อมูล ขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ โดยบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ของหน่วยงานราชการ กับระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111
         

 2. ด้านกลไกและวิธีการจัดการเรื่องร้องทุกข์ เช่น
        

  - จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์ เช่น จุดบริการประชาชน 1111, ตู้ ป.ณ. 1111, สายด่วนของรัฐบาล 1111, เว็บไซต์ www.1111.go.th และโมบายแอปพลิเคชัน PSC 1111
         

 - บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการในระดับกระทรวง/กรม จังหวัด รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอิสระ 330 หน่วยงาน
         

 - ปรับเปลี่ยนแนวทางการประสานงานเรื่องร้องทุกข์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) โดยส่งเรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ตช. ให้สำนักงานจเรตำรวจพิจารณาดำเนินการ โดยส่งเรื่องต่อให้กองบัญชาการ/ตำรวจภูธรภาค ดำเนินการและติดตามเรื่องร้องทุกข์เพื่อรายงานผลให้ทราบ
          

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา "ระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนของ สนง. จเรตำรวจออนไลน์" โดย สปน. ได้ประชุมหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการประสานงานเรื่องร้องทุกข์ร่วมกัน และเสนอ นายกรัฐมนตรีเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว
          

- กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน โดยหากมีกฎหมาย ระเบียบกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้หน่วยงานพิจารณาการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นลำดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่แจ้งข้อมูลระยะเวลาแล้วเสร็จ 18 หน่วยงาน เช่น กรณีเรื่องร้องเรียนทั่วไป กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในเบื้องต้น 15 วันทำการ, กรณีเรื่องร้องเรียนที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ชัดเจน และกรณีการกำหนดระยะเวลาเป็นภาพรวม เช่น 30 วันทำการ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงานเรื่องร้องทุกข์ ดังนี้
         

 1. ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะช่วยให้ลดเวลารอคอย และลดการติดตามเรื่องกับผู้ปฏิบัติงาน
        

  2. ผลักดันให้เกิดการขยายผล และเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการจัดการเรื่องร้องทุกข์ไปยังระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างครอบคลุมและเป็นธรรม

ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี และเราอยากให้พี่น้องประชาชนได้ใช้บริการช่องทางดังกล่าว พร้อมติดตามผลการปรับปรุงในครั้งนี้จะมีสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างไร