วิกฤติโลกจากความขัดแย้งจนขยายไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัสเซียกับยูเครนและพันธมิตรของยูเครนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 จวบจนปัจจุบัน นับวันจะเข้มข้นทวีความรุนแรงขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงทั้งหลายไม่กล้าที่จะคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคตได้ว่าจะจบลงได้เมื่อใด และด้วยรูปแบบใด เพราะความอ่อนไหวของสถานการณ์ที่มีตัวแสดงหลากหลายทั้งที่แสดงตนและที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังของการต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับยูเครนครั้งนี้ ตลอดจนเป็นการต่อสู้ที่ ชี้ชัดว่า เป็นการปฏิบัติการทางทหารที่มีความยืดเยื้อมาเกือบจะครบ 1 ปีในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งยิ่งสงครามครั้งนี้มีความยืดเยื้อมากไปเท่าใด ยิ่งส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลกที่ขยายตัวออกไปกระทบต่อความมั่นคงในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะการทหาร หากแต่จะเป็นผลกระทบที่ใกล้ตัวทุกประเทศในโลกแม้ว่าจะเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลเขตสงครามในครั้งนี้สักเพียงใดซึ่งรวมถึงประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยด้วยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและยารักษาโรค ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภค ที่ประชาชนในประเทศจะต้องเตรียมรับมือจากผลกระทบดังกล่าวอย่างจริงจังโดยเฉพาะในกรณีที่สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อต่อไป
ด้วยสถานการณ์การต่อสู้ในสงครามของทั้งฝ่ายรัสเซียและยูเครนตลอดจนประเทศพันธมิตร ได้ลุกลามไปในวงกว้าง ตั้งแต่รัสเซียประกาศรับรองอำนาจอธิปไตยและเอกราชของแคว้นซาโปริซเซียและเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครน เช่นเดียวกับแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่เคยประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัสเซียได้จัดพิธีประกาศผนวกแคว้น 4 แห่งของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง ได้แก่ แคว้นซาโปริซเซีย เคอร์ซอน โดเนตสก์ และลูฮันสก์ ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน โดยรัฐบาลรัสเซียได้จัดพิธีประกาศผนวกแคว้นทั้งสี่เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างยิ่งใหญ่ที่รัฐสภารัสเซียในวันเดียวกัน ด้วยการประกาศการผนวกดินแดนทั้ง 4 แคว้นดังกล่าวอย่างเป็นทางการโดยประกาศรับรองในกฤษฎีกาของรัสเซียและจัดให้มีพิธีลงนามของผู้แทนของแคว้นต่างๆ ทั้ง 4 แคว้นกับผู้นำรัสเซียอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทุกชาติได้รับรู้ว่า นี่คืออธิปไตยของรัสเซียที่ไม่ว่าประเทศชาติใดจะละเมิดอธิปไตยไม่ได้ และรัสเซียเองก็มีความชอบธรรมในการปกป้องอธิปไตยของชาติตนเองทุกรูปแบบโดยถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ทันทีที่รัฐบาลรัสเซียประกาศการผนวกดินแดนทั้ง 4 แคว้นเข้าเป็นอธิปไตยของรัสเซียอย่างเป็นทางการดังกล่าว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ มหาอำนาจของโลกที่อยู่ตรงข้ามกับรัสเซียมาโดยตลอด กล่าวตอบโต้ผู้นำรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยกล่าวว่า สหรัฐฯ ขอประณามการกระทำของประธานาธิบดีรัสเซียต่อการประกาศผนวกรวมดินแดนครั้งนี้อย่างรุนแรง และสหรัฐฯ จะไม่มีวันยอมรับข้อกล่าวอ้างของรัสเซียเหนือดินแดนทั้ง 4 แคว้นดังกล่าว อันเป็นอธิปไตยของยูเครนอย่างเด็ดขาด ส่วนนายอันโตนิโอกูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวย้ำอีกว่า สหประชาชาติ (UN) ไม่ยอมรับการผนวกแคว้นทั้งสี่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และยังประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการบ่งบอกถึงเจตนาของรัสเซียในการยึดดินแดนของยูเครนด้วยกำลังทหารทั้งยังเป็นการขยายขอบเขตสงครามครั้งใหญ่ของโลกให้ลุกลามกว้างขวางมากขึ้นอันเป็นการก่อวิกฤตของประชาคมโลกให้เผชิญกับหายนะในระยะเวลาอันใกล้ข้างหน้ามากขึ้น ผู้นำยูเครนยังย้ำว่า กองทัพยูเครนจะยังคงยืนหยัดปกป้องประชาชนใน 4 แคว้นที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียซึ่งเป็นพื้นที่ที่การลงประชามติลวงโลกที่เกิดขึ้น รวมทั้งการแย่งยึดคืนหลายพื้นที่ในภูมิภาคคาร์คีฟที่ยังคงถูกยึดครองโดยกองทัพรัสเซียในเวลานี้ ในขณะที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกหลายชาติที่อยู่ฝ่ายสหรัฐฯ และสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ต่างไม่ยอมรับการผนวกดินแดนทั้ง 4 แคว้นของรัสเซียครั้งนี้
ล่าสุดยูเครนและพันธมิตรของยูเครนได้ปฏิบัติการตอบโต้การประกาศผนวกดินแดนทั้ง 4 แคว้นดังกล่าวของรัสเซียด้วยการก่อวินาศกรรมทำลายสะพานเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างรัสเซียกับไครเมียเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา จนสะพานดังกล่าวเกิดการเสียหายอย่างหนัก ประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย ออกมากล่าวหายูเครนว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีสะพานเชื่อมไครเมียของรัสเซีย โดยระบุว่า การดำเนินการของยูเครนถือเป็นการก่อการร้าย ความสำคัญของสะพานนี้ที่ชื่อว่าสะพานเคิร์ช (Kirch) ถูกสร้างขึ้นหลังจากรัสเซียเข้าผนวกไครเมียเป็นดินแดนของตัวเองเมื่อปี 2014 ซึ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2018 เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัสเซียและไครเมียได้เชื่อมเกี่ยวกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ด้วยเหตุนี้ สะพานดังกล่าวจึงเป็นสัญลักษณ์ของการผนวกดินแดนในครั้งนั้น และมีความสำคัญมากเพราะเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งเดียวที่เชื่อมระหว่างไครเมียกับรัสเซียและที่สำคัญในการต่อสู้ทางทหารของรัสเซียกับยูเครนครั้งนี้ก็คือสะพานแห่งนี้เป็นเส้นหลักการส่งกำลังบำรุงสำคัญของกองทัพรัสเซียต่อการปฏิบัติการในไครเมียที่รัสเซียใช้สะพานดังกล่าวในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ และกำลังพล ไปยังสนามรบทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งแน่นอนว่านอกจากการทำลายสะพานแห่งนี้ที่ต้องการตัดการส่งกำลังทางทหารของกองทัพรัสเซียอย่างมีนัยยะแล้ว ยังเป็นการทำลายสัญลักษณ์ในการผนวกดินแดนไครเมียของรัสเซียซึ่งเป็นการตอบโต้การประกาศผนวกดินแดนทั้ง 4 แคว้นของรัสเซียเมื่อปลายเดือนกันยาที่ผ่านมา ซึ่งการที่สะพานแห่งนี้ถูกทำลาย จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับรัสเซียอย่างมากอีกด้วย
ล่าสุดทำให้รัสเซียเริ่มตอบโต้ยูเครนกลับหลังที่สะพานเชื่อมรัสเซีย-ไครเมียถูกโจมตี ด้วยการยิงถล่มด้วยปืนใหญ่หลากหลายชนิดรวมทั้งปืนใหญ่อัตตาจรสายพาน 2S7 Pion 203 mm. เข้าโจมตีต่อที่ตั้งกองทัพยูเครนในภูมิภาคดอนบาส และมีแนวโน้มว่าปูตินจะยกระดับสงครามอย่างรุนแรงขึ้นและการโจมตีด้วยอาวุธหนักต่างๆ รวมทั้งขีปนาวุธต่อที่ตั้งสำคัญในยูเครนที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธนำวิถีกว่า 80 ลูก โจมตีหลายพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศยูเครน รวมถึงกรุงเคียฟ อันเป็นเมืองหลวงของยูเครนในช่วงเช้าของวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ส่งผลให้พลเรือนถูกสังหารชีวิตและระบบโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนถูกทำลายพินาศย่อยยับ โดยการโจมตีขนานใหญ่ของรัสเซียที่มีต่อยูเครนครั้งล่าสุดนี้ เป็นการตอบโต้ที่รัสเซียอ้างว่าการก่อวินาศกรรมสะพานเชื่อมโยงรัสเซีย-ไครเมีย โดยหน่วยพิเศษของยูเครน
การตอบโต้ด้วยขีปนาวุธของรัสเซียครั้งนี้ได้โจมตีเป้าหมายในยูเครนอย่างกว้างขวาง โดยยิงขีปนาวุธโจมตีไปยังโรงไฟฟ้าและประปา ทำให้บางส่วนของเมืองไม่มีไฟฟ้าใช้และน้ำประปาหยุดไหล รวมถึงระบบสื่อสารที่ไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งในการโจมตีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยูเครนยอมรับว่าเป็นการโจมตีของรัสเซียครั้งใหญ่ที่สุดที่มีต่อยูเครน และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทำลายแหล่งพลังงานในเมืองหลายแห่ง และเป้าหมายการโจมตีครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อยูเครนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันเป็นการบ่งชี้ว่า สงครามครั้งนี้ได้ลุกลามด้วยความรุนแรงขยายวงกว้างมากขึ้นนับจากที่เคยตอบโต้กันไปมา และจากสงครามครั้งนี้ แม้จะไม่ส่งผลกระทบทางทหารโดยตรง หากแต่จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตลอดจนการดำรงชีวิตอย่างยากลำบากมากขึ้น อันเป็นผลกระทบใกล้ตัวประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแม้ว่าที่ตั้งของประเทศนั้นจะอยู่ห่างไกลพื้นที่สงครามแค่ไหนก็ตาม