กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เตรียมปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2566 ซึ่งเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.9 เนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของภาวะถดถอยและความไม่มั่นคงทางการเงิน
โดยนางคริสตาลีนา จอร์เจียว่า กรรมการผู้จัดการกองทุนไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังเลวร้ายลงจากสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์สู้รบในยูเครน และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและความผันผวนทางเศรษฐกิจสูงขึ้นทั้งนี้การปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจรอบนี้ ถือเป็นการปรับลดครั้งที่ 4 ของปี
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เตือนประเทศไทยและเราทุกคนต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น ในการรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยจากคำเตือนของไอเอ็มเอฟ โดยมีคำเตือนที่น่าสนใจ 5 เรื่องดังนี้
คำเตือนที่ 1 - เศรษฐกิจโลกกำลังทรุดตัวอย่างน่ากังวลใจ โอกาสของ Global Recessions กำลังเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์หน้า IMF จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเป็นครั้งที่ 4 สำหรับปี 66
ที่สำคัญ 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่การหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสต่อกัน ภายในปีนี้และปีหน้า ความเสียหายจาก Output Loss หรือเศรษฐกิจที่ควรโตแต่ไม่โต อยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณเท่ากับเศรษฐกิจเยอรมันทั้งประเทศ
คำเตือนที่ 2 - ประเทศต่างๆ ต้องระวังการ "เดินนโยบายผิดพลาด" เงินเฟ้อยังดื้อแพ่ง ไม่ยอมลง นโยบายการเงินยังต้องเดินหน้าต่อไป
ต้องไม่ใจอ่อน ต้องไม่หยุด ก่อนเวลาอันควร การตัดสินใจต้องเด็ดเดี่ยว แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลง ไม่เช่นนั้น การใจอ่อน จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ในอนาคต
คำเตือนที่ 3 - ประเทศต่างๆ ระวังการออกนโยบายการคลังที่ "ไม่เหมาะสม" นโนบายการเงินและการคลังต้องไปด้วยกัน อย่าไปคนละทาง อย่างอังกฤษเสนอ ต้องไม่ควรช่วยเป็นการทั่วไป เพราะถ้าช่วยทุกคน จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ บ่อนทำลายการสู้ศึกเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ
สิ่งที่ควรทำ คือ ช่วยเป็นจุดจุด เน้นกลุ่มเปราะบาง เป็นสำคัญเป็นการชั่วคราว
คำเตือนที่ 4 - มรสุม Emerging Markets Debt Crisis กำลังก่อตัวดอลลาร์แข็ง ดอกเบี้ยกู้ที่เพิ่ม เงินที่กำลังไหลออกจาก Emerging Markets กำลังทำให้ประเทศเกิดใหม่เริ่มเซ โอกาสที่เงินจะไหลออกจากกลุ่ม Emerging Markets ในช่วง 3 ข้างหน้า ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40%
โดยมากกว่า 25% ของประเทศ Emerging Markets ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือราคาพันธบัตรรัฐบาลตกแรงมาอยู่ระดับ "Distressed Level" ที่จะทำให้กู้ยากต่อไปและถ้าเจาะลึกลงไปที่ประเทศในกลุ่ม Low-income Countries พบว่า เกินครึ่ง หรือ 60% กำลังมีหรือจะมีปัญหา Debt Distress ที่ราคาพันธบัตรตก ดอกเบี้ยพุ่งสูง มีปัญหาในการกู้ยืมจากตลาด
คำเตือนที่ 5 - ต้อง Work together จะรอดจากปัญหานี้ได้ จะลดความเสียหายให้น้อยได้ ทุกประเทศต้องทำงานร่วมกันไม่ไปคนละทิศคนละทางเหมือนช่วงที่สู้ศึกโควิด
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า นอกจากคำเตือนของไอเอ็มเอฟ ที่ไทยต้องตื่นตัวเตรียมรับมือแล้ว ยังมีปัจจัยด้านการเมือง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคมที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการฟื้นฟู