ในลิ้นชักความทรงจำ/ ยูร กมลเสรีรัตน์
วงการนักเขียนยุคนั้นเป็นยุคโรแมนติก งานเขียนที่ตลาดต้องการล้วนเป็นเรื่องโรแมนติกหรือแนวพาฝัน เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักเป็นหลัก เพราะคนอ่านยุคนั้นชอบงานเขียนแนวนี้
แม้กระทั่งวงการนักกลอนก็เช่นเดียวกัน หากเขียนฉีกแนวออกไป จะไม่เป็นที่นิยมและไม่ได้รับการต้อนรับ
ครั้งที่อุปถัมภ์ กองแก้ว เขียนนวนิยายเรื่องที่ 3 เรื่อง “เจ้าการเวก” ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรและไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งที่เป็นนวนิยายสมจริงเช่นเดียวกับเรื่อง “อรุณลา” แต่
เมื่อนวนิยายเรื่องต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ 3 ปรากฏสู่สายตาของคนอ่านคือเรื่อง “มัจจุราชสีน้ำผึ้ง”กลับได้รับความนิยมจากคนอ่านทั่วฟ้าเมืองไทย ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้งและละครโทรทัศน์ 5 ครั้ง โดยสร้างละครโทรทัศน์ครั้งแรกทางช่อง 5 เมื่อปี 2523
นวนิยายเรื่อง“เจ้าการเวก”เป็นนวนิยายที่ฉีกแนวจากสไตล์โรแมนติกที่อุปถัมภ์ กองแก้วเคยเขียนมาอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องราวชีวิตลูกทุ่งชนบท ซึ่งกล่าวถึงครอบครัวหนึ่งที่พ่อเป็นลิเกเก่า มีลูกสาวสองคน ฐานะทางครอบครัวยากจน ลูกสาวคนเล็กจึงไปสมัครอยู่กับคณะลิเกที่เป็นเพื่อนเก่าของพ่อ เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
แม้หน้าตาของสาวน้อยคนนี้จะไม่สะสวย แต่มีน้ำเสียงไพเราะปานนกการเวก แล้ววันหนึ่ง เธอก็มีโอกาสแสดงฝีมือให้เห็น เมื่อนางเอกลิเกของคณะไม่สามารถเล่นบทนางเอกได้ คนที่รับบทพระเอกเป็นพระเอกลิเกของคณะและเป็นลูกชายของหัวหน้าคณะ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสาวน้อย
มีเหตุการณ์ในเรื่องและปมอุปสรรคมากมายหลายอย่าง แม้จะไม่ใช่เรื่องโรแมนติก แต่ก็มีเรื่องราวของความรักแทรกอยู่ในเรื่อง อันเป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ เพราะความรักกับมนุษย์เป็นของคู่กัน นักเขียนวัย 93 ปี ย้อนเล่าความเป็นมาของนวนิยายเรื่องนี้ให้ฟังเพียงสั้น ๆ ว่า
“เจอหญิงสาวหน้าตาน่ารักตอนไปสุโขทัย เป็นนางเอกลิเก ได้พูดคุยกัน เป็นครอบครัวลิเกในชนบท เป็นหญิงสาวชนบทที่มีจิตใจ มีคุณธรรม คนมีจิตใจบริสุทธิ์แบบนี้ หาได้ยากมาในยุคนี้”
อุปถัมภ์ กองแก้วบอกว่าอยากให้นวนิยายเรื่อง“เจ้าการเวก” ได้สร้างเป็นละครโทรทัศน์ คงจะสนุก เป็นชีวิตชนบทด้วย หาคนเล่นลิเกเก่ง ๆ ในสมัยนี้มีหลายคณะ คงจะสนุก
ผลงานของนักเขียนอาวุโสผู้นี้ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งสร้างเป็นละครวิทยุมากมาย โดยเฉพาะละครวิทยุ สมัยก่อนถือว่าเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมมาก สร้างความสุขให้กับชาวบ้านทั่วฟ้าเมืองไทย
อุปถัมภ์ กองแก้ว มีผลงานนวนิยายประมาณ 50 เรื่อง เรื่องสั้นประมาณ 30 เรื่อง ผลงานนวนิยายที่พิมพ์รวมเล่มดังนี้ ขวัญคืน วิมานชีวิต มัจจุราชสีน้ำผึ้ง ตลาดอารมณ์ ระเบียงรัก ก่อนจะสิ้นเสน่หา กุญแจใจ พรุ่งนี้ เกิดกำหนด สายสวาท หนี้กรรม อรุณลา เงาบาป สวรรค์ดำ มะนาวอมเปรี้ยว แทนกระแสคลื่น ระฆังพิศวาส เพลงไผ่ เพลงหลงแผ่น เกลือหวาน พรุ่งนี้จะคลายเศร้า กุญแจใจ ม่านรัก ขายหัวใจ ห้วงน้ำใจ เมืองแมน ที่นี่...วิมานรัก ก่อนจะสิ้นเสน่หา พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ บนสวรรค์นั้นเหงา บัลลังก์ทรราช ระบำพราย ฯลฯ
ส่วนนามปากกาอื่นที่เธอใช้เขียนนวนิยายอยู่ช่วงหนึ่งเพียงไม่กี่เรื่อง ได้แก่ “รื่นรมย์ ฤดี” ซึ่งน้อยคนมากที่จะรู้จักนามปากกานี้ เหตุที่ตั้งนามปากกาใหม่ ไม่มีอะไรมาก นั่นก็คือ...
“เบื่อ ๆ นามปากกาเก่า ใช้มานาน ก็เปลี่ยน ๆ เสียบ้าง เขียนอยู่ไม่กี่เรื่อง จำได้เรื่องเดียว ‘ร้อยรสสุมาลัย’เรื่องอื่นจำไม่ได้”
ผมเพิ่งได้ข้อมูลเพิ่มเติม นวนิยายที่ใช้นามปากกา“รื่นรมย์ ฤดี” อีกเรื่องหนึ่งก็คือ วิหคเหิรส่วนนามปากกา“วลี รัตนา”ใช้เขียนนวนิยายที่นำมาจากเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีน เธอเขียนไว้ 4 เรื่องด้วยกัน แต่จำได้แค่ 2 เรื่อง เพราะสองเรื่องนี้ได้พิมพ์รวมเล่มคือ หยางกุ้ยเฟย และ ข้าคือเย่เหอ นาลา
เรื่องที่คนอ่านชื่นชอบที่สุดคือ หยางกุ้ยเฟย ครั้งที่ตีพิมพ์ในนิตยสารกุลสตรีคนติดกันมาก รวมทั้งอาจินต์ ปัญจพรรค์(ล่วงลับแล้ว) ผู้สร้างสรรค์ผลงานชุด เหมืองแร่ เป็นเรื่องราวของ 1 ใน 4 ยอดหญิงงามผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน ซึ่งอุปถัมภ์ กองแก้วบอกความในใจว่า เขียนเรื่องนี้ด้วยความเห็นใจหยางกุ้งเฟย...
“พี่ไปเมืองจีน ไปเยี่ยมหลุมฝังศพของหยางกุ้งเฟย ที่ผูกคอตายใต้ต้นสาลี่ เธอได้ชื่อว่าเป็นนางงามล่มชาติ แต่ใช่ความผิดของเธอนะ มันเป็นพรหมลิขิต คนก็ลิขิตด้วย”
สำหรับผลงานรวมเรื่องสั้น ซึ่งมีเรื่องสั้นประมาณ 10 เรื่อง ชื่อ “เหยื่อ” หนึ่งในนั้นคือ
เรื่อง “เหยื่อ”ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่สะท้อนชีวิตจริงของคนในสังคม เพื่อเป็นข้อคิดให้คนอ่านที่ได้อ่านแล้ว ได้ฉุกคิด
อุปถัมภ์ กองแก้ว ปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลานานแล้ว นับตั้งแต่สามีเสียชีวิต แต่เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี 2539 ถือว่าเป็นการค้นพบที่ทำให้จิตใจของเธอมีความสุขอย่าง
เต็มเปี่ยม เธอบอกผมว่าพยายามรักษาศีล 5ให้บริสุทธิ์ ดังนั้น งานต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวงวรรณกรรมในตอนกลางคืน เธอจะพยายามเลี่ยง เป็นที่รู้กันมานานหลายปีแล้วสำหรับคนที่คุ้นเคย
ธรรมะช่วยทำให้นักเขียนรุ่นลายครามผู้นี้มีความสุขเปี่ยมล้น หากการปฏิบัติธรรมก็ทำให้อุปถัมภ์ กองแก้วมีอุปสรรคในการเขียนนวนิยาย ซึ่งไม่สามารถทำได้เหมือนแต่ก่อน เธอขยายความให้ฟังว่า...
“การปฏิบัติธรรมทำให้เขียนยากขึ้น เพราะเราเขียนเรื่องของทางโลกย์ มันเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ยังติดข้องกับสีดำ กิเลส ยังนองเนื่องอยู่ มันก็เขียนยากอยู่ แต่เรื่องของโลกมนุษย์ก็มีส่วนดีของเขา”
อุปถัมภ์ กองแก้ว เล่าให้ฟังว่า จะนำประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติธรรมมาเขียนเป็นนวนิยายเกี่ยวกับธรรมะ ซึ่งเคยคิดเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่ขณะนั้นยังรู้อะไรไม่มาก จนกระทั่งในเวลาต่อมา เธอได้เขียนนวนิยายเกี่ยวกับธรรมะเรื่องแรกในนิตยสารกุลสตรีเรื่อง “เสียงกระซิบจากดวงดาว” เธอบอกเล่าเพียงสั้น ๆ ว่า....
“นวนิยายเรื่องนี้ไมใช่เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมโดยตรง แต่เป็นบทเรียนที่ได้จากธรรมะ”
นอกจากอุปถัมภ์ กองแก้ว มีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนระดับแถวหน้าแล้ว ยังมีบทบาทเป็นนักกลอนด้วย มีส่วนร่วมในสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยตลอดหลายสิบปี เธอออกตัวว่า แต่งกลอนเก่งเหมือนนักกลอน เคยแต่งบทอาเศียรวาทในหนังสือบ้าง แต่ร่วมกับคนอื่นในหนังสือของสมาคมนักกลอนฯบ้าง
หากมีงานสำคัญของสมาคมนักเขียนฯและสมาคมนักกลอนฯ อุปถัมภ์ กองแก้ว จะไปร่วมงานตามโอกาส เสมือนหนึ่งเป็นการให้กำลังใจคนรุ่นหลัง ๆ สำหรับผมแล้ว การที่มีนักเขียนผู้ใหญ่ไปร่วมงานและได้รู้จัก รู้สึกอบอุ่นที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ไปร่วมงาน นับว่าเป็นบุญในชีวิตของการเป็นนักเขียน
อุปถัมภ์ กองแก้ว ได้รับรางวัลนราธิปจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยประจำปี 2552 ที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการที่มีอายุ 80 ขึ้นไป ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวาง โดยจัดพิธีมอบรางวัลให้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553 ที่หอสมุดแห่งชาติ ผมได้ประสานกับเพื่อน ๆ เชิญคนคุ้นเคยไปร่วมงาน มีป้ายแสดงความยินดีกับ “พี่ถัมภ์”ที่ห้องวีไอพี ร้านลิขิต ราชดำเนินนอก ไม่มีรูปประกอบ อยู่ที่บ้านที่กรุงเทพฯ
ได้จั่วหัวเรื่องไว้อย่างที่เห็น นักเขียนอายุตั้ง 93 ปีแล้ว สร้างผลงานมามากมาย ครองตนด้วยความสมถะและยึดมั่นในความดีงาม คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลศิลปินแห่งชาติ โปรดอย่างได้มองผ่านเลยครับ
เกือบ 20 ปีก่อน อุปถัมภ์ กองแก้ว มีสุขภาพไม่ดีนัก เนื่องจากกรวยไตอักเสบและเป็นไซนัสอักเสบ เธอบอกผมอย่างคน ‘ปลง’ได้นานแล้วด้วยการปฏิบัติธรรมว่า มันเป็นธรรมดาของสังขารมนุษย์ ถึงเวลามันก็ต้องเสื่อมทุกคน ใครเล่าจะหนีพ้น
เมื่อผมโทรศัพท์ไปหาช่วงกลาง ๆ เดือนตุลา หลังจากโทรฯไปถามข่าวคราวและส่งข่าวเรื่องที่จะเขียนถึงในคอลัมน์ก่อนหน้านี้ หลังจากพูดคุยแล้ว ได้ถามเรื่องสุขภาพ ก ก็บ่นว่าปวดแต่ขา ได้ยินแล้ว รู้สึกดีใจที่มีสุขภาพดี
“ความสุขของพี่คือ การนั่งชมต้นไม้ มีสายลมอ่อน ๆ อยู่กับลูกหลาน”ด้วยความอบอุ่น
บ้านบนเนื้อที่กว้างขวางและร่มรื่ ย่านงามวงศ์วาน อันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงในการเขียนหนังสือคือ ความสุขในวันนี้ของอุปถัมภ์ กองแก้วในวัย 93 ปี
“จิตของมนุษย์นั้นยังเยาว์มาก จิตของมนุษย์ส่วนใหญ่ยังเหมือนเด็กเพิ่งหัดเดินเตาะแตะ พฤติกรรมอันสบสนวุ่นวายนั่นแหละแสดงถึงความเยาว์ทางจิตของมนุษย์(วศิน อินทสระ)