“เมื่อยามน้ำหลากมา ทำให้นึกถึง และคิดถึงพระองค์ท่าน บนสรวงสวรรค์ ต่อไปนี้จะไม่ได้ยิน พระสุรเสียง สั่งการ ทางวิทยุ ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าช่วยเหลือ พสกนิกรของพระองค์ ที่กำลังเดือดร้อน จะมีพระมหากษัตริย์ประเทศไหนบ้างละ ที่จะทำแบบนี้ เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์เข็ญของราษฎร ที่กำลังยากลำบาก จากน้ำหลาก น้ำท่วมบ้านเรือน”  ม.จ. จุลเจิม ยุคล (สยามรัฐออนไลน์ 29กันยายน 2564)

เชื่อว่าข้อความข้างต้นนั้น แทนใจพสกนิกรชาวไทย ยิ่งในวาระครบรอบวันคล้ายวันสวรรคตยิ่งหวนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฮรยภาพของพระบิดาแห่งทรัพยากรน้ำ

ดังที่ “สยามรัฐ” จะขออันเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตอนหนึ่ง ที่พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิตวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2538

“...เพราะว่าท่านนายกฯ มาพูดถึง โครงการแก้มลิง พูดอย่างนี้บางคนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าเรียกว่า แก้มลิง ทำไมเคยพูดแล้วว่าแก้มลิงคืออะไร แต่ก็คงยังไม่ซาบซึ้งกัน เป็นโครงการ แก้มลิง เพราะ นางมณีเมขลา เป็นส่วนหนึ่ง ของสำนักงาน ฝล  สำนักงาน ฝล. นี้คืออะไร. เป็นการเปิดเผยเป็นทางการเป็นครั้งแรกเดี๋ยวนี้ ณ บัดนี้ นอกเวลาราชการว่า ฝล  นี่แปลว่า สำนักงานฝูงลิง   นี่เครื่องหมาย สำนักงานฝูงลิง ฝล.16 ตรงนี้ก็คือ ศาลพระกาฬ ลิงที่อยู่ข้างล่างนี่เป็นลิงจำพวกที่ไม่กินกล้วย คือว่ากินกล้วยแต่ไม่เก็บไว้ในแก้มลิง  เพราะว่าตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยว เคี้ยว เคี้ยวแล้ว เก็บไว้ในแก้มลิง  แต่ฝูงลิงที่ลพบุรี ท่านผู้ว่าฯ ลพบุรีคงทราบว่าไม่รับประทานกล้วย เพราะฝูงลิงที่ลพบุรีนั้นเขารับประทานแต่โต๊ะจีน

แต่อย่างไรก็ตามนิสัยของลิงก็ยังคงเป็นลิง  เพราะว่า เราจำได้เมื่ออายุ 5 ขวบ มีลิง เอากล้วยไปให้ มันก็เคี้ยว เคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง  ตกลง โครงการแก้มลิง นี้มีที่เกิดเมื่อเราอายุ 5 ขวบ  เมื่ออายุ 5 ขวบ ก็นี่เป็นเวลา 63 ปีมาแล้ว ลิงสมัยโน้น ลิงโบราณเขาก็มีแก้มลิงแล้ว  เขาเคี้ยวแล้วเอาเข้าไปเก็บในแก้ม.  น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ โครงการแก้มลิง น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำ แก้มลิง เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้ เวลาน้ำทะเลขึ้น ไม่สามารถที่จะระบายออก เมื่อไม่สามารถระบายออก น้ำทะเลก็ขึ้นมา ดันขึ้นไปตาม แม่น้ำขึ้นไปเกือบถึงอยุธยา ทำให้น้ำลดลงไปไม่ได้.  แล้วเวลาน้ำทะเลลง น้ำที่เอ่อขึ้นมานั้นก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ท่วมต่อไป  จึงต้องมีแก้มลิง เราพยายามที่จะเอาน้ำออกมาเมื่อมีโอกาส  เอาลงมาเหมือนโครงการที่ได้กล่าวถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่บอกให้ทำที่เก็บน้ำทางฝั่งตะวันออก ในที่สุดก็สำเร็จพอสมควร  เพราะว่าภายในไม่กี่วัน น้ำที่อำเภอลาดกระบังก็ลดลง...”