เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร แต่สร้างวิธีคิดวิธีปฏิบัติ ก่อให้เกิดจารีตประเพณี วิถีชุมชน  ภาษาสร้างประวัติศาสตร์ เชื่อมอดีตกับปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต ภาษาเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการสร้างอำนาจ และรักษาอำนาจ

ระหว่างปี 2022-2032 สหประชาชาติกำหนดให้เป็นทศวรรษของภาษาพื้นเมือง และให้ยูเนสโกเป็นองค์กรรับผิดชอบในการดำเนินการส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์ ภาษาพื้นเมืองซึ่งมีอยู่กว่า 7,000 ภาษาทั่วโลก

ภาษาพื้นเมืองจำนวนมากได้ล้มหายตายจากและกำลังถูกลืมหรือถูกกลืนจากภาษาหลักในประเทศต่างๆ ด้วยปัจจัยหลายประการอย่างโลกาภิวัตน์  การอพยพเข้าเมือง การอพยพย้ายถิ่น โลกร้อน

ที่สำคัญ ภาษาเป็นอำนาจ เป็นเครื่องมือแสดงอำนาจและชนชั้น คนพื้นเมืองมักไม่พูดภาษาของตนเองเพราะเป็นภาษาที่ “ไม่มีอำนาจ” ของคนยากคนจน คนชายขอบ กลัวถูกดูถูก กีดกัน แบ่งแยก สูญเสียโอกาส

ภาษาพื้นเมือง ภาษาถิ่นกลายเป็นปมด้อย คนพื้นเมือง ชนเผ่าจำนวนมากจึงไม่พูดภาษาของตน โดยเฉพาะเมื่อเข้าเมือง หรือแม้แต่ในชุมชนในสถานที่ทางการ อย่างโรงเรียน กลัวถูกดูถูก หรือล้อเลียน

นอกจากไม่พูดภาษาของตนแล้วยังไม่กล้าแสดงตนเป็นคนพื้นเมือง เป็นชนเผ่า ไม่กล้าแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของเผ่าพันธุ์ หรือร้องเพลงเล่นดนตรีของชนเผ่า

สหประชาชาติกำหนดทศวรรษภาษาพื้นเมือง เพราะต้องการนำไปสู่การเคารพในศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพของทุกคนทุกเผ่าพันธุ์อย่างเท่าเทียม ไม่มีการกีดกันรังเกียจเพราะสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ

การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนสูญเสียอัตลักษณ์ ความหลากหลายกลายเป็นความอ่อนแอที่ต้องถูกกำจัด การพัฒนาที่ต้องการให้ทุกคนเหมือนกันหมด แปลว่ามีวินัย มีระเบียบ ควบคุมง่าย ใช้ภาษาเดียวกัน มีวิธีคิดวิธีปฏิบัติเดียวกัน

สหประชาชาติเสนอมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมภาษาพื้นเมือง เช่น ให้ตราเป็นกฎหมาย ใช้ในกระบวนการยุติธรรม การบริหารงานสาธารณะ การดูแลสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การอนุรักษ์วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ การส่งเสริมความเข้มแข็งให้เด็กและสตรี  

ส่งเสริมการใช้ภาษาในโรงเรียน การฝึกอบรมครู ล่าม นักแปลอาชีพเพื่อแปลภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาทางการในแต่ละประเทศ  เพื่อให้ภาษาเป็นเครื่องมือพัฒนาสังคม สร้างสันติภาพและความสมานฉันท์

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ หลอมรวมกันเป็น “ไทย” จนไม่รู้ว่า “ไทยแท้” คืออะไร หรือมีด้วยหรือไม่ แต่รัฐไทยก็ให้นิยามความเป็นไทยไว้ด้วยภาษาและประเพณีวัฒนธรรมหลายอย่าง จนทำให้คนหลายกลุ่มที่เป็น “กลุ่มน้อย” ถูกกระแสหลักผลักไปอยู่ชายขอบ ด้วยการดูถูกภาษา ประเพณีวัฒนธรรม จนคนเหล่านั้นสูญเสียความเชื่อมั่น ดูถูกตัวเองและรากเหง้าของตน

พระไพศาล วิสาโล เขียนไว้ในหนังสือ “พี่น้องเดียวพี่น้องกัน” ว่า “ข้าพเจ้าเป็นลูกจีน มีแซ่ติดตัวมาแต่กำเนิด จำได้ว่าตอนเด็กๆ ไม่เคยรู้สึกชื่นชมกับแซ่ของตนเลย...สมัยที่เป็นนักเรียนชั้นประถม...แทบทุกครั้งที่มีการประกาศชื่อ ข้าพเจ้าจะรู้สึกอาย...” ท่านบอกว่าอยากเป็นคนไทยเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่

“ลูกจีนอย่างข้าพเจ้าถูกหล่อหลอมให้มีสำนึกในความเป็นไทย สำนึกดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ในเวลาเดียวกัน ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรามีสายเลือดจีน มีบรรพบุรุษเป็นจีน อีกทั้งชีวิตส่วนหนึ่งก็เติบโตมาในท่ามกลางวัฒนธรรมประเพณีจีน”

“ ความจริงแล้ว สำนึกที่ถูกสร้างขึ้น และความเป็นจริงที่ติดมาแต่กำนิดนั้นไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันก็ได้...แต่น่าเสียดายที่ความเป็นไทย (แม้กระทั่งเวลานี้) มีความหมายที่คับแคบและไม่มีที่ว่างให้แก่เชื้อชาติและวัฒนธรรมอื่น ผลก็คือลูกจีนจำนวนไม่น้อยที่อยากเป็นไทยเกิดความรู้สึกอับอาย ดูถูก และในที่สุดก็ปฏิเสธกำพืดของตน ปัญหาดังกล่าวคงเกิดขึ้นกับคนไทยที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าวด้วยเช่นกัน”

ทุกวันนี้คนจีนส่วนใหญ่คงก้าวข้ามความรู้สึกดังกล่าวไปแล้ว เพราะมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของไทย นอกจากคนเชื้อสายจีน ยังมีคนเชื้อสายอื่นโดยเฉพาะเวียดนาม รวมไปถึงลาว เขมร พม่า และชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่มีล้วนมี “ชื่อ” ที่พวกเขาไม่ต้องการให้เรียก เพราะมีความหมายของการดูถูก

ทศวรรษภาษาพื้นเมืองเป็นอะไรมากกว่าการเรียนภาษาท้องถิ่น เป็นกระบวนการการพัฒนาประเทศ ที่ควรเห็นความหลากหลายของภาษา จารีตประเพณี วัฒนธรรมเป็นพลัง เป็นซอฟต์เพาเวอร์ ไม่ใช่เพื่อเสน่ห์การท่องเที่ยว แต่เพื่อคืนความเชื่อมั่นให้คนท้องถิ่น คนพื้นเมือง ชนเผ่าต่างๆ

สี่สิบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาชุมชนอาศัยวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อคืนความเชื่อมั่นให้ชุมชน ทำให้เกิด “อินแปง” ที่มีชาวกะเลิง ชาวโส้  ที่สกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ที่ชัยภูมิมีชาวเนียะกูรญ์ หรือชาวบน ที่บุรีรัมย์มีชาวกุย ที่เรามักเรียกว่าส่วย

พวกเขาฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตน คืนสู่รากเหง้า สืบค้นภูมิปัญญา ถ่ายทอดถอดรหัส จนเกิดความเชื่อมั่น เป็นฐานเพื่อการพัฒนาชุมชน ให้เป็นตัวของตัวเองและพึ่งตัวเอง

สำนึกในรากเหง้าสำคัญอย่างไร ดูได้จากที่รัฐบาลแคนาดาและพระสันตะปาปาฟรันซิสต้องขอโทษคนพื้นเมือง ที่รัฐและศาสนจักรได้นำลูกหลานของพวกเขามาอบรมเลี้ยงดู ห้ามพูดภาษาพื้นเมือง เปลี่ยนวัฒนธรรม

ความปรารถนาดีประสงค์ร้ายได้ทำลายรากเหง้าของพวกเขา ที่เป็นเพียง “วัตถุสิ่งของ” (object) ที่ต้องอยู่ใต้อาณัติของผู้อื่น พวกเขาไม่มีตัวตน ไม่มีอัตลักษณ์  “คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาครอบงำและกำหนดอนาคตให้หมดเลย”  นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่ถูกกระแสพัดพาไปโดยไม่รู้ตัว

เจ้าชายน้อยมาจากดวงดาว มาถึงโลกก็ดีใจว่าจะได้พบคนมาก แต่เห็นเพียง 5-6 คน จึงถามดอกไม้ว่า คนหายไปไหน ดอกไม้ตอบว่า “คนไม่มีรากเหง้า ลมพัดมาแรงๆ หายไปในทะเลทรายหมดเลย”