ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายโรงเรียนเริ่มปิดเทอมแล้ว ไปพร้อมๆกับการปรับให้โรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง โดยเริ่มมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ ศบค.ต้อง ถูกยุบไปด้วยหลังปฏิบัติการมากว่า 900 วัน โดยใช้เพียงพ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 ในการบริหารจัดการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha” ระบุว่า “นับเป็นเวลากว่า 2 ปีครึ่งหรือกว่า 900 วัน ขอขอบคุณทุกท่านและทุกหน่วยงาน ที่ได้ทำงานด้วยความเสียสละ ทุ่มเท เคียงบ่าเคียงไหล่กับตนเอง รัฐบาล และทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของเรา คือประเทศชาติต้องปลอดเชื้อ ประชาชนต้องปลอดภัย

ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่อาจเอาชนะพลังแห่งความสามัคคี และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ที่อยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคนได้ ผมขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง ด้วยความภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมทำงานกับทุกท่านภายใต้ ศบค. โดยในการแถลงครั้งแรกของ ศบค.เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้วนั้น เราได้ประกาศชัดว่าเราจะสู้ไปด้วยกัน และเราจะชนะไปด้วยกัน ซึ่งก็เป็นจริงแล้วในวันนี้ จากความร่วมมือของเราทุกคน”

ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มการติดเชื้อโควิดในประเทศลดลง ผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงมาก ขณะที่ปัจจุบันประชากรมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส

โดยได้มีปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ เช่น กรณีติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่ต้องกักตัว แต่ให้เน้นมาตรการทางด้านสาธารณสุข หรือ DMHT อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 5 วันโดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย-ล้างมือ

ขณะที่การรักษายังคงรักษาได้รับสิทธิรักษาฟรี ในกรณีผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ และมีอาการน้อยแต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง เน้นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก  (เจอ แจก จบ) โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับบริการทางการแพทย์ ในการรักษาโรคโควิด-19 ทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ได้แก่ Clicknic Totale Telemed MorDee และ Good Doctor ซึ่งจะมีบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน

ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง หรือปอดบวมต้องรับออกซิเจน จะเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ในกรณีที่ผู้ติดเชื้ออาการทรุดอย่างรวดเร็ว(อาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย (ซึ่งแตกต่างจาก UCEP ทั่วไปที่รักษาได้ 72 ชั่วโมง จากนั้นต้องส่งไปรักษาตามสิทธิ)

กรณีแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี การฉีดวัคซีน ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด โดยกลุ่มเฉพาะกลุ่ม 608 "ควร" ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4-6 เดือน ได้ตามความสมัครใจ แผนการดำเนินการในระยะ 1 ปี กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าจะคงสถานะเฝ้าระวังไปอีก 1 ปี (ต.ค.65- ก.ย.66) โดยคาดว่าปี 2566 อาจมีการระบาดเกิดขึ้นตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจพบการติดเชื้อเป็นระยะในบางพื้นที่ 1-3 ครั้งต่อปี