การกลับมาคืนสู่อำนาจของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หลังพ้นบ่วงปม "วาระ 8ปี" อีกด้านหนึ่ง คล้ายกับการเริ่มนับหนึ่งเข้าสู่โหมดของความวุ่นวาย มีแนวโน้มไปสู่ความขัดแย้งตามมา ภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง 

แรงกดดันเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ปรับครม. จากพรรคร่วมรัฐบาลมีขึ้นตั้งแต่วันแรกที่คัมแบก มานั่งทำงานในเก้าอี้ "สร.1" โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความชัดเจนและต้องการให้ปรับครม.มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยเอง

สำหรับพรรคภูมิใจไทย แล้วเวลานี้ถูกจับตามากที่สุดว่าจะสามารถกวาดที่นั่งส.ส.ในการเลือกตั้งรอบหน้าไม่ต่ำกว่า 120 ที่นั่งตามที่ประกาศเอาไว้ได้หรือไม่ พร้อมๆกับการลุยงานการเมืองในพื้นที่ 

ทั้งนี้มีรายงานว่าเมื่อวันที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค เข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กระทรวงกลาโหม ระหว่างที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ 

โดยในวงสนทนาได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการปรับครม. แกนนำจากพรรคภูมิใจไทยทั้งอนุทินและศักดิ์สยาม ต่างยืนยันกับพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ทุกอย่างอยู่ที่นายกฯจะตัดสินใจ ว่าจะปรับครม.หรือไม่ สำหรับพรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหาใดๆ หากนายกฯปรับครม. พรรคภูมิใจไทยได้ปรับ 

อย่างไรก็ดีสำหรับ พรรคภูมิใจไทยอาจจะไม่มีแรงกดดันมากเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอย่าลืมว่า เวลานี้ พรรคยังไม่มี "ตัวแทน" ของพรรคเข้าไปนั่งในกระทรวงมหาดไทย แทนที่ "นิพนธ์ บุญญามณี" ที่ลาออกจากตำแหน่ง "มท. 2" ที่ผ่านมา ยิ่งเมื่อใกล้การเลือกตั้ง การที่ยังไม่มี มือทำงานของพรรคเข้าไปนั่งในกระทรวงมหาดไทย อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบตามมา

ขณะที่ทางพรรคพลังประชารัฐเอง น่าสนใจว่าแม้งานนี้จะ "ไม่ออกตัวแรง" แต่ไม่ได้หมายความว่า "กลุ่มการเมือง" ในพรรคจะไม่ต้องการ "เก้าอี้รัฐมนตรี" ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เพียงแต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐแล้ว หากมีการขยับเมื่อใด  โอกาสที่จะเกิด "ปัญหาใหญ่" ตามมาทันที ทั้งความขัดแย้ง รอยร้าว จนนำไปสู่ปัญหาเลือดไหลออกตามมา !!