ต่อเนื่องจากบทบรรณาธิการฉบับที่แล้ว ในเรื่อง “การเมืองต้องมีสุนัขเลียแผล” ที่ถอดความมาจาก การบรรยายธรรมะของท่าน “พุทธทาสภิกขุ” ในหัวข้อเรื่องที่มีชื่อว่า “การเมืองเรื่องของมนุษย์” เผยแพร่ทาง Youtube ช่อง หอจดหมายเหตุพทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ดังนี้ ต่อจากตอนที่แล้วดังนี้

“...ไม่ว่าท่านจะลงอาชญา คือท่านนิ่งเสียทั้งๆที่สอน อย่างนี้ไม่ต้องมารวมอยู่ในอาชญาอาวุธชนิดที่เป็นสุนัขปากร้ายกัดไม่ปล่อย ประชาชน มีการเมืองชนิดที่ใช้อาชญา  มันก็ไม่ใช่การเมืองมันก็เป็นเหมือนกับสัตว์ป่า มันใช้กันในป่า ก็ไปใช้ในป่าดีกว่า

การเมืองมันเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว มันต้องไม่เห็นแก่ตัวทั้งผู้จัดและผู้ถูกจัดผู้จัด ก็ไม่เห็นแก่ตัวพูดถูกจัดก็ไม่เห็นแก่ตัว มันจึงจะเป็นการเมืองที่งดงาม การเมืองทั้งหลายตั้งหลักฐานอยู่บนความไม่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่ประชาธิปไตยของผู้เห็นแก่ตัว ประชาธิปไตยถ้าเป็นของผู้เห็นแก่ตัว เลวร้ายที่สุด ไม่มีระบบไหนจะเลวร้ายมาก เท่ากับประชาธิปไตยของผู้เห็นแก่ตัว

เพราะประชาธิปไตยมันสำหรับผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัว ก็ทำทุกอย่างเพื่อเห็นแก่ตัวมันก็เลวร้ายที่สุด อย่าไปหวังประชาธิปไตยจากผู้เห็นแก่ตัว ประชาชนผู้เห็นแก่ตัว ไม่อาจจะมีประชาธิปไตย ธรรมชาติกำหนดมาสำหรับผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว ผู้เห็นแก่ตัวมีปัญหามากเกินไป

 และเพราะเหตุที่มันมีความเห็นแก่ตัว จึงต้องมีการจัดระบบการเมืองเพื่อแก้ความเห็นแก่ตัว ทุกศาสนามุ่งหมาย สอนกำจัดความเห็นแก่ตัว เพื่อให้โลกนี้อยู่กันเป็นผาสุกโดยไม่ต้องใช้อาชญาอย่างอื่น ซึ่งประชาชนก็ต้องไม่เห็นแก่ตัว เลือกผู้แทนฯก็ต้องเป็นผู้แทนฯที่ไม่เห็นแก่ตัว สมาชิกรัฐสภาก็ไม่เห็นแก่ตัว รัฐบาลก็ไม่เห็นแก่ตัว  มันจะเกิดเป็นธรรมาธิปไตย คือประชาธิปไตยที่ประกอบอยู่ในธรรมะ ถ้าจะเรียกอีกอย่าง ธรรมมิกะ ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ประกอบอยู่ในธรรมะ

ซึ่งเดี๋ยวนี้เรามีแต่คนเห็นแก่ตัว เพราะพวกเราทุกคนใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นเบื้องหน้า มันก็เลยไม่มีสันติสุข ไม่มีสันติภาพ มันเกิดปัญหานานาชนิดขึ้นมาแทน คนเห็นแก่ตัวมันก็ขี้เกียจ คนเห็นแก่ตัวมันก็เอาเปรียบ คนเห็นแก่ตัวมันก็อิจฉาริษยา คนเห็นแก่ตัวก็สร้างมลภาวะ คนเห็นแก่ตัวก็ทำลายธรรมชาติ ล้วนแต่เป็นความเลวร้ายทั้งนั้น หลงในความเห็นแก่ตัวหนักเข้า มันก็เป็นบ้า ฆ่าลูก ฆ่าเมีย ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ หมดแล้วก็ฆ่าตัวเองตาย  คนเห็นแก่ตัว ฆ่าตัวเองตาย ดูความหลงของความเห็นแก่ตัว  ไม่ไปฆ่าใครกับมาฆ่าตัวเอง ในที่สุดเรียกว่ามันเป็นความหลงเหลือประมาณ มีปัญหานานาชนิดเกิดขึ้นทั้งโลก ครอบงำโลกเป็นโลกแห่งความเห็นแก่ตัว คนมั่งมีก็เห็นแก่ตัว คนยากจนก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว ทะเลาะกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะความเห็นแก่ตัวนี้มันไม่มีสัตบุรุษคือผู้สงบระงับ

พระพุทธองค์ยังตรัสว่าที่ไหนไม่มีสัตบุรุษที่นั่น ไม่มีสภา ไม่ใช่สภา ถ้าจะใช้คำว่าสภา ก็ขอให้มีสัตบุรุษคือผู้มีความสงบระงับ ใช้ความถูกต้องเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม่ใช้ความขัดแย้งเป็นหลัก มันจึงจะเรียกว่าสภา ...มันไม่ใช่สภาฯ ที่ๆไม่มีสัตบุรุษ ก็ขอให้เรามีความเข้าใจอย่างนี้ว่า สภาต้องประกอบไปด้วย สัตบุรุษคือผู้สงบระงับ โดยยึดถือธรรมะเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ นั้นแหละคือตัวการเมือง ทำความเข้าใจการสร้างสันติภาพกันโดยไม่ต้องใช้อาชญา…” (ยังมีต่อ)