การกลับมาทำหน้าที่ “สร.1” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในจังหวะที่ อายุสภาผู้แทนราษฎรกำลังเริ่มนับถอยหลัง จะหมดวาระลงในเดือนมี.ค.ปีหน้า 2566 ทุกพรรคการเมืองเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้ง
ดังนั้นเมื่ออายุสภาฯ จะเหลืออีกไม่กี่เดือน จึงจำเป็นที่ทุกพรรค ทั้งปีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้อง “จัดทัพ” สะสมเสบียง ไม่ว่าจะเป็นกระสุนและกระแส สำหรับรัฐบาล และโดยเฉพาะ “พรรคร่วมรัฐบาล” เองที่อยู่ในฐานะ “ได้เปรียบ” เหนือ “ฝ่ายค้าน” ต้องตระเตรียมการ โดยมีเป้าหมาย ได้กลับมาเป็นรัฐบาลรอบหน้า
หนึ่งในกลไกภายใต้การขับเคลื่อนสร้างกระแส และคะแนนนิยมทางการเมือง สำหรับพรรคฝ่ายรัฐบาล จึงยึดโยงกับ สารพัดนโยบาย ไปจนถึงการบริหาร “กลไก” ในมือ ทุกกระทรวง ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
การปรับครม. ถือเป็นหนึ่งในกลุยุทธ์ที่พรรครัฐบาล สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือ สร้างความได้เปรียบ ไปจนถึงการปรับโฉมหน้าให้กับรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้าย เฮือกสุดท้าย !
การกลับมาของพล.อ.ประยุทธ์ หลังจากวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้พล.อ.ประยุทธ์ “ไปต่อ” ปรากฏว่า เพียงข้ามวัน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแรกที่ออกมาส่งสัญญาณ “ขอปรับครม.” โดยจุรินทร์ บอกชัดเจนว่าคงต้องพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในห้วงเวลานี้ถือว่า ยังมีโอกาสที่จะ “พลิกเกม” ก่อนถึงวันเปิดสนามเลือกตั้ง ยิ่งเมื่อพรรคมีเป้าหมายอยู่ที่ การกลับมาทวงคืนทั้งในพื้นที่ภาคใต้และกทม. หลังจากที่ “บาดเจ็บหนัก” จากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562
วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณแรงชัดมากกว่าใครเพื่อน ว่าประสงค์จะให้มีการปรับครม. เพื่อลดความเสียหาย หลังจากที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค ลาออกจาก “มท. 2” เพื่อมาสู้คดีเมื่อครั้งยังเป็นนายกอบจ.สงขลา
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยเอง วันนี้ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ “เสมา 3” จนกว่าคดีความจะสิ้นสุด เท่ากับว่า ในกระทรวงศึกษาฯ ไม่มีคนของพรรคภูมิใจไทย
หมายความว่าความประสงค์ของ2 พรรคร่วมรัฐบาล ด้านหนึ่งคือแรงกดดันที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจ แม้จะรู้ดีว่า หากมีการปรับจริง ความวุ่นวายภายในพรรคพลังประชารัฐ จะขยับตามมาทันทีก็ตาม !