ในความเป็นจริงแล้ว การกลับมาของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ในฐานะ “สร.1” อาจไม่ใช่เรื่องเกินไปจากความคาดหมายของคนในพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านและเปิดหน้าชน กับ “3ป.” ด้วยการประกาศว่าจะใช้ตัวบทกฎหมาย ปม “นายกฯ8ปี” เขย่าบิ๊กตู่ กันมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อปีที่แล้ว 2564 

แต่เมื่อเชื่อว่ามีช่องทางที่จะใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ระบุว่าห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันเป็นเวลา 8ปี พรรคเพื่อไทยจึงต้องอาศัย “กลไกกฎหมาย” เพื่อเขย่าขวัญ ฟากรัฐบาล โดยเฉพาะ “3ป.”     

และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีมติด้วยเสียงข้างมาก 6ต่อ 3 ชี้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 6 เม.ย.2560 จึงทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ยังเหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งอีก 2ปี     

ดังนั้นเมื่อวันนี้ 3 ต.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รีเทิร์น กลับมาทำหน้าที่ สร. 1 อีกครั้งโดยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชัดถึงสถานะ เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยเองอาจกลายเป็น ฝ่ายที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบากแทน     

หากฟังจากสุ้มเสียงของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับแกนำคณะหลอมรวมประชาชน ที่นำโดย “จตุพร พรหมพันธุ์” ซึ่งพากันออกมาชุมนุม ประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา จะพบว่ามี “คีย์เวิร์ด” ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยมองว่า แม้สถานะความเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลง แต่จะเป็น “ผลดี”  ทำให้ภาคประชาชนเตรียมตัดสิน ใจการเลือกตั้งครั้งหน้า     

อย่างไรก็ดี สำหรับจตุพร แล้วไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่หรือไป ตัวเขาเองย่อมได้รับผลกระทบน้อยกว่า “พรรคเพื่อไทญ” หลายเท่านัก ! 

เพราะอย่าลืมว่า เดิมพันทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยได้ฝากเอาไว้ที่การเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งต้อง ชนะชนิดถล่มทลายเท่านั้น  การเดินหน้าผลักดันแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย และ “ทุกองคาพยพ” ที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ระหว่างพรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง คือการพลิกเกมกลับมากวาดที่นั่งส.ส.เข้าสภาฯ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้     

อีกทั้งยังเป็นการต่อสู้กับทุกแนวรบทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงฐานเสียงเดียวกับ “พรรคก้าวไกล” ในกทม.ไปจนถึงเขตเลือกตั้งตามหัวเมืองในจังหวัดใหญ่ ๆ โดยที่ยังไม่นับรวมการถูกเจาะฐานเสียง ควบคู่ไปกับปัญหา “เลือดไหล”  ออกจากพรรคเพื่อฤดูกาล “ย้ายพรรค” มาถึง     

ทั้งนี้ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปไกลว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจ “วางมือ” ทางการเมือง หลังยุบสภาฯ หรืออยู่จนครบเทอม แล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อ “ตัดกำลัง” กระแสของฟากรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ พรรคแนวร่วมที่ประกาศหนุนพล.อ.ประยุทธ์ หรือแม้แต่การเบรกเกมของบิ๊กตู่ เอง แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครการันตีได้ว่า ที่สุดแล้ว “บิ๊กตู่” จะไม่ไปต่อ ในครั้งหน้า จริงหรือไม่ !?