ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

ประมาณปี 2546 ไมตรี  ลิมปิชาติ นึกสนุก อยากทำนิตยสารอีก จึงออกนิตยสารเที่ยวสนุก ในนามสำนักพิมพ์บ้านไมตรี เป็นนิตยสารรายเดือน เพราะเขาชอบท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่เล่มใหญ่ขนาด 8 หน้ายกเหมือนที่นิตยสารทั่วไป รูปเล่มเป็นพ็อกเก็ต แม็กกาซีน ขนาด 16 หน้ายกพิเศษ ถ้า 16 หน้ายก จะเล็กไป 

นิตยสารเที่ยวสนุก สนุกสมชื่อ ไล่ตั้งแต่ปกที่อาบมัน สวยเฉียบเตะตา จนไปถึงเนื้อใน ที่มีเนื้อหาอ่านเพลิน มีภาพประกอบสี่สีสวยงามมาก ที่สำคัญรูปเล่มกะทัดรัดดี ไม่เคยมีใครทำนิตยสารท่องเที่ยวรูปเล่มขนาดกระทัดรัดแบบนี้มาก่อน

คนอ่านชอบ เหมาะมือ ถือง่าย แต่บริษัทโฆษณาไม่ค่อยชอบนัก  เพราะเล็กไปสำหรับการลงโฆษณา จึงหาโฆษณาค่อนข้างยากและเหนื่อยพอสมควร ไมตรี ลิมปิชาติ สวมบทบาทผู้อำนวยการนิตยสาร  เรียกว่าเป็นคนกุมบังเหียน ให้

*เช็ค-ลูกสาวหรือลูกชายเป็นบรรณาธิการ จำไม่ได้แล้ว  แต่จริง ๆ แล้วเขาดูแลทั้งเล่มนั่นแหละ  ผมยังเก็บนิตยสารเที่ยวสนุกเรียงไว้บนชั้นหนังสือที่บ้านในกรุงเทพฯจนเดี๋ยวนี้

ไมตรี  ลิมปิชาติเขียนสารคดีลงด้วย  ชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ไปเขียนกันใหญ่  ผมก็ได้ไปแจมด้วยในบางโอกาสที่อยากได้ค่าน้ำสีชา เพราะค่าเรื่องดีมาก ยอดขายถือว่าใช้ได้  ททท.เป็นสปอนเซอร์เจ้าใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทโฆษณาอื่น ๆ

นิตยสารเที่ยวสนุก เดินทางได้ครบปี ก็จัดทัวร์ทางรถไฟไปเที่ยวสวนสนฯ ที่หัวหิน  มีทั้งสมาชิกเที่ยวสนุก คนชอบเที่ยว “พี่ไมตรี” ชวนผมไปด้วย แฮ่ม!ไปเที่ยวฟรี กินฟรี ให้เกียรตินักเขียนรุ่นน้องอย่างนี้  ผมจึงไม่ปฏิเสธ  ได้นั่งโบกี้พิเศษคือ โบกี้นักเขียน สื่อมวลชนและเพื่อนพ้อง ต่อมา นิตยสารเที่ยวสนุกได้ตั้งชมรมคนชอบเที่ยว  มีสมาชิกเป็นร้อย  จัดทัวร์ไปเที่ยวทั้งในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

“ตอนหลังโฆษณาเข้าน้อย แข่งกับหนังสือใหญ่ ๆ ไม่ไหว”ไมตรี ลิมปิชาติบ่นให้ฟัง สรุปแล้ว ขาดทุนอีกครั้งสำหรับการทำนิตยสาร คราวนี้คงเข็ดกระมัง  เพราะได้บทสรุป ดังที่“พี่ไมตรี” พูดกับผมว่า “นักเขียนไม่ควรทำหนังสือ  เราเป็นนักเขียน ควรเขียนหนังสืออย่างเดียวดีกว่า”

“พี่ไมตรี” ให้เหตุผลว่า ถ้าเป็นนักเขียน แล้วทำหนังสือด้วย  เป็นภาระมาก  มันจะแบก ไม่ไหว  แล้วยกตัวอย่างนักเขียนที่ทำหนังสือ นั่นก็คือ อาจินต์  ปัญจพรรค์ ผู้สร้างสรรค์เรื่องชุด เหมือแร่  กรณ์ ไกรลาศ(ปกรณ์ พงษ์วราภา เจ้าของ GM) นักเขียนเรื่องสั้นฝีมือดี  สุดท้ายต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ผมว่าไมตรี  ลิมปิชาติ  ไม่เพียงแต่เป็นนักเขียนที่มีฝีมือรอบตัว เขียนได้ทุกแนวเท่านั้น แต่ยังเป็นนักทำหนังสือที่มีหัวทางการตลาด มองตลาดหนังสือออกว่าต้องการอะไร  เรียกว่าเป็น CEO ให้บริษัทสำนักพิมพ์ใหญ่ได้เลย แต่ทางที่เขาเลือกคือเส้นทางนักเขียนที่เขารักเป็นชีวิตจิตใจ

การเป็นนักเขียนนั้นไม่ได้ร่ำรวยเหมือนกับทำธุรกิจบางอย่าง  อาจจะจนด้วยซ้ำ แต่การที่ไมตรี ลิมปิชาติสามารถก้าวเดินบนถนนน้ำหมึกได้  เขามีความภาคภูมิใจอย่างที่สุด เพราะนอกจากเป็นสิ่งที่เขารักแล้ว ยังเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของสังคม 

ผลงานของไมตรี ลิมปชาติแต่ละเล่มได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง  เรียกว่าขายได้เรื่อย ๆ เมื่อราว ๆ 10 ปีหรืออาจกว่า  ผลงานที่เขาสร้างสรรค์ จนออกดอกออกผลอย่างมากมาย  ทำให้เขาได้ปลิดกินเหมือนไม้ผลที่ปลูกไว้  เมื่อสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ้ค ในเครือบริษัทสยามสปอร์ตที่เพิ่งตั้งใหม่ ๆ นำผลงานทั้งเก่าและใหม่ไปพิมพ์ถึง 30 เล่ม  ทยอยพิมพ์ออกมาเดือนละ 1-2 เล่ม  ได้เงินเหนาะ ๆ อย่างน้อยเดือนละครึ่งแสน ช่างโชคดีมีบุญจริง ๆ  

ภายหลังเขานำผลงานของตนเองมาพิมพ์ใหม่ในนามสำนักพิมพ์บ้านไมตรี ก็ยังขายได้ ถือว่าเป็นนักเขียนเบสต์เซลเล่อร์อีกคนหนึ่ง โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้นชุด“คนอยู่วัด” ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จัดพิมพ์มาแล้ว

*เช็ค-กว่า 40 ครั้ง ยอดพิมพ์มากกว่า 700,000 เล่ม  ผมว่าหนังสือซีไรต์หลายเล่มยังไม่เท่า

ความภาคภูมิใจที่เขาสร้างสรรค์ผลงานมาตลอดระยะเวลากว่า 40  ปีที่ตามมาอีกก็คือ รวมเรื่องสั้น “คนอยู่วัด” และสารคดี “คนในผ้าเหลือง”ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ นับว่าเป็นเกียรติยศและบำเหน็จชีวิตอันยิ่งใหญ่ยิ่งกว่ารางวัลใดๆ

ข่าวคราวที่ได้รับรู้เมื่อกว่า 10 ปีก่อนก็คือไมตรี  ลิมปิชาติกำลังหัดวาดรูป เหตุที่เขาอยากวาดรูป  เพราะเขาได้พบศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนทำได้แก่ กมล  ทัศนาญชลี,ถวัลย์  ดัชนี,ประเทือง เอมเจริญ,ช่วง  มูลพินิจ เป็นอาทิ  หากจริง ๆ แล้ว เขามีความชอบด้านศิลปะมาก่อนนานแล้ว ดังที่เขารำลึกถึงอดีตให้ฟัง

“จบชั้นม.6  ผมสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่าง(ชื่อใหม่คือ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ)  แต่พ่อไม่ให้เรียน จบมาเป็นได้แค่ครูสอนวาดรูป  เลยต้องไปเรียนที่

วิทยาลัยก่อสร้างอุเทนถวาย(ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย)เรียนก็เรียน  เพราะมีสอนเขียนแบบ ก็เหมือนกับวาดรูป ที่ไหนได้  กลับได้ก่ออิฐปูน”

ความรู้สึกลึกๆ ของเขาอยากวาดรูปอยู่แล้ว แต่ติดตรงที่ยังไม่มีความกล้าพอ  จนกระทั่งได้รู้จักกับศิลปินหลายคน โดยเฉพาะถวัลย์ ดัชนี ศิลปินรุ่นใหญ่ ที่เป็นคนให้คำแนะนำ อีกคนคือ สุเทพ  สังข์เพ็ชร (อดีตรองผู้ว่าการประปานครหลวง) ซึ่งเคยเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างฯมาก่อน

เมื่อเดือนมีนาคม  2553  ไมตรี ลิมปิชาติเปิดนิทรรศการเป็นครั้งแรกชุด “บนถนนหนังสือสู่เส้นทางศิลปะ”ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  มีหนังสือ “บนถนนหนังสือสู่เส้นทางศิลปะ”มอบให้ผู้ที่ไปในงานด้วย  ในเล่มเป็นประวัติและผลงานของเขาอย่างละเอียดและทุกเรื่องจะมีตัวอย่างให้อ่าน ส่วนหลังเป็นภาพงานศิลปะ

10 กว่าปีให้หลัง  ไมตรี ลิมปิชาติสร้างงานศิลปะเป็นภาพเขียนไว้มากมาย มีการเปิดนิทรรศการหลายครั้ง ที่สำคัญ ภาพเขียนของเขาได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น มีคนซื้อภาพเขียนไปประดับบ้านบ้าง ร้านอาหารบ้าง  นับเป็นอีกเรื่องที่เขามีความภาคภูมิใจในชีวิต

ยุคหนังสือกระดาษเฟื่องฟู  ไมตรี ลิมปิชาติเขียนคอลัมน์ประจำที่เดลินิวส์  สยามกีฬา เส้นทางเศรษฐี สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์  ปัจจุบันเขียนที่เดลินิวส์เพียงฉบับเดียว เขาจึงมีเวลาให้กับการเขียนรูป ซึ่งนอกจากให้ความเพลิดเพลินใจแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายจิตใจ ไม่ต้องใช้ความคิดเคร่งเครียดเหมือนกับการเขียนหนังสือ

หากการเขียนหนังสือก็เป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่เขารักและทุ่มเทด้วยความอุตสาหะมาเป็นเวลากว่า 40 ปี  จากเรื่องสั้นประมาณ 300 เรื่อง นำไปสู่หนังสือรวมเรื่องสั้น 18  เล่ม นวนิยาย 20 เล่ม สารคดีท่องเที่ยว 15 เล่ม สารคดีอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 เล่ม สารคดีชีวิต  4  เล่ม  รวมบทความหัสคดี 22 เล่มและเรื่องสำหรับเด็ก 10  เล่ม รวมแล้วมีผลงานทั้งหมด 91 เล่ม

ครั้งที่ไมตรี ลิมปิชาติจะมีอายุครบ 6 รอบ เขาบอกผมว่าจะเอาคัดสรรเรื่องสั้นมาพิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งสุดท้ายซัก 50 เรื่องและจะเปิดตัวด้วย  สุดท้ายเขาก็ล้มเลิกความคิดนี้ เมื่อลูก ๆ ทักท้วงว่า พ่อจะทำเพื่ออะไรอีก อายุมากแล้ว ขายก็ยาก ผลงานก็มีมากมายแล้ว ผมพูดเพียงประโยคสั้น ๆ ว่า พี่ไมตรีดังแล้ว ไม่จำเป็นแล้ว

มีคนในวงวรรณกรรมกล่าวไว้นานแล้วว่าในบรรดานักเขียนชาย 100 ปี จะมีซักกี่คน อย่างอาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้สร้างสรรค์เรื่องชุด เหมืองแร่  คำพูน บุญทวี ผู้สร้างนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” คำหมาน  คนไค ผู้ปลุกปั้น “ครูบ้านนอก” ฯลฯ ผมขอเพิ่มเติมว่าอีกคนคือ ไมตรี ลิมปิชาติ คนที่สร้างสรรค์งานเขียนมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย  สามารถเป็น แบบอย่างได้จนอายุปูนนี้แล้ว สมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติยิ่งกว่ารุ่นเด็ก ๆ ตั้งนานแล้วมิใช่หรือ?

ทุกวันนี้ความสุขในวัย 80 ปีของ ไมตรี  ลิมปชาติ  นอกจากการเขียนหนังสือและเขียนรูป ซึ่งเปรียบเหมือนสองอย่างนี้เป็นพี่น้องกันก็ว่าได้ เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งปลูกผักปลอดสารพิษในกระถางบนดาดฟ้า จนกินไม่ทัน ต้องได้แบ่งปัน ความพอดี พอเพียงและการใช้ชีวิตอย่างสมถะในบั้นปลายของทุกวันคือ ความสุขที่เลือกแล้วของนักเขียนหัวใจศิลปินที่ชื่อไมตรี  ลิมปิชาติ

“ศิลปะเป็นก้าวหนึ่งจากธรรมชาติ สู่อนันตภาวะ” (คาลิล  ยิบราน)