ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผ่านโครงการต่างๆของรัฐบาล ที่มีปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นตัวกระตุ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการโจทตีทางไซเบอร์เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในประเทศจีนเพิ่งจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีน ประจำปี 2565 ไปเมื่อวันที่ 5-11 กันยายนที่ผ่านมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชน ในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2565-2570 ที่คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ได้จัดทำและเสนอมาเพื่อทำให้บริการที่สำคัญของประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม โดยร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ นี้จะเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ที่มุ่งเน้นทั้งมิติการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกัน มิติการรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมิติการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามและฟื้นฟูระบบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างทันท่วงที

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ นี้เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 9(1) และมาตรา 9(3) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว นโยบายและแผนปฏิบัติการฯ จะใช้เป็นแผนแม่บทในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย การพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาพรวมที่ครอบคลุมในทุกมิติ และเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยกรอบแนวทางดำเนินการจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ

1.สร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี (Capacity) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เป็นนวัตกรรมของประเทศ

2.บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Partnership) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว

3.สร้างบริการภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ (Resilience)

4.สร้างศักยภาพของหน่วยงานระดับชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐาน (Standard) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กระนั้น เราเห็นว่ารัฐบาลยังจำเป็นต้องทำงานเชิงรุก ในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางไซเบอร์ ไม่เฉพาะองค์กรภาครัฐ และเอกชน หากแต่การป้องกันตนเองส่วนบุคคล รวมทั้งปรับทิศทางที่เน้นการสกัดกั้นภัยคุกคามจากทุกเครือข่าย