ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 314 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญคือยกเลิกการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ และการคิดเบี้ยปรับ รวมถึงให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ และผู้ค้ำประกันที่ทำสัญญาก่อนที่ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขมีผลใช้บังคับทุกราย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินกู้ยืมจากกยศ.ยังถือเป็นเงินกู้ที่ผู้กู้ต้องมีวินัยในการชำระคืน ดังนั้นไม่ว่าจะมีหรือไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับก็ยังต้องชำระคืน ซึ่งที่ผ่านมากยศ. บริหารจัดการสภาพคล่องได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ได้เป็นภาระของงบประมาณ ซึ่งท้ายที่สุดต้องกลับไปที่วินัยทางการเงินที่ผู้กู้ยืมจะต้องมีวินัยในการชำระหนี้คืน โดยเมื่อกฎหมายออกมา กยศ.จะต้องวางแผนบริหารจัดการจากเดิม ที่จะมีรายได้เสริมสภาพคล่องจากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ แต่เมื่อไม่มีเงินจากส่วนนี้เข้ามาจะต้องวางแผนบริหารในอีกรูปแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.กยศ.ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภายังสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กองทุน กยศ. ได้ตั้งขึ้นในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยคนยากจน หรือคนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยเริ่มต้นจากงบประมาณ 3 พันล้านบาท ทำให้เด็กได้เรียนถึงประมาณ 7-8 หมื่นคน แต่ปัจจุบันมีงบประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท ทำให้มีเด็กได้เรียนประมาณ 6 ล้านคน เรียกว่าเป็นการลดช่องว่างเรื่องการศึกษาได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของคนที่เรียนหนังสือ หรือยุคของการกระจายโอกาส เพราะฉะนั้นเรื่องดังกล่าว เกิดผลดีในการให้เด็กไทยได้เรียนหนังสือมากขึ้น
นายชวนกล่าวว่า ช่วงหลังๆ มีปัญหา เพราะมีสถาบันการศึกษาบางแห่ง ยุยงไม่ให้เด็กคืนเงิน กยศ. ที่รู้เพราะมีคนมาขอบคุณว่าได้เรียนและกู้ กยศ. จบแล้วมีงานทำ จึงถามกลับไปว่า ได้คืนเงินกู้หรือยัง เขาบอกว่าไม่คืน เพราะมหาวิทยาลัยแนะนำไม่ให้คืน และจากที่ทราบคือมหาวิทยาลัยของเอกชน เพราะฉะนั้นหากเราไปดูตัวเลขมหาวิทยาลัยรัฐมีค้างอยู่ แต่สัดส่วนไม่สูงมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนมีค้างมาก จึงได้รณรงค์ว่า เงินสำคัญก็จริง แต่ไม่สำคัญเท่ากับให้คนรับผิดชอบ เพราะบ้านเมืองจะอยู่ได้ด้วยความรับผิดชอบ
ส่วนเรื่องของดอกเบี้ย นายชวน เห็นว่าถ้าคิดในมุมของการหาเสียง ก็ไม่ต้องคิดเรื่องดอกเบี้ย แต่ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ของชาติ ก็ควรต้องมีดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง เพื่อให้ผู้กู้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบและมีส่วนร่วม ซึ่งดอกเบี้ยนี้จะเป็นส่วนที่มาช่วยให้เลี้ยงองค์กรให้อยู่ได้ ช่วงหลังมีแปรญัตติมา 0.25% จากเดิมรัฐบาลเสนอไว้ที่ 2% แต่กรรมาธิการเห็นว่าให้มี แต่ขอให้น้อยที่สุดคือ 0.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูง และช่วยสร้างความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องติดตามในชั้นของการพิจารณาของวุฒิสภา ที่เราเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จำเป็นต้องคำนึงถึงจุดที่สมดุล ระหว่างการแก้ขยายโอกาสทางการศึกษา สวัสดิการทางสังคม และความยั่งยืนของกองทุน