ท่ามกลางกระแสการเมืองที่เข้มข้น ในระหว่างที่รอลุ้น ชะตา ทางการเมืองของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ปมวาระ 8ปีดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่าที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยออกมาทางใด ในวันที่ 30 ก.ย.65 นี้ 

 ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานความเคลื่อนไหวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ามีการเตรียมแผนการเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.66 แล้ว โดยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ โดยเบื้องต้น กกต.กำหนดให้วันที่ 7 พ.ค.66 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และเปิดรับสมัครในวันที่ 3-7 เม.ย.66  ! 

 หมายความว่า ทุกพรรคการเมือง ต้องเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมลงสนามเลือกตั้ง กันถ้วนหน้า แม้ก่อนหน้านี้ต่างพากัน จัดทัพ ตระเตรียม ว่าที่ผู้สมัคร  สะสมทั้ง กระแส และ กระสุน  กันล่วงหน้าเป็นปีๆ แต่แทบทุกพรรคยังอยู่ในสถานะที่เรียกว่า ประเมิน ยังไม่สามารถเคาะวันได้ว่าจะล็อควันเลือกตั้ง เป็นวันไหน 

 แต่เมื่อกกต. เปิดไทม์ไลน์ กางปฏิทินเตรียมการเลือกตั้ง เมื่อสภาผู้แทนราษฎร อยู่จนครบวาระ ในวันที่ 23 มี.ค.2566 การเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน 45 วัน 
 น่าสนใจว่า นอกจากกกต.จะเปิดปฏิทินการเมือง เพื่อบอกความชัดเจนแล้วว่า อะไรจะเกิดเมื่อใด เวลาไหนแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเท่ากับว่า เป็นการส่งสัญญาณไปยัง ทุกพรรคการเมือง ให้อยู่ในความสงบ เบรกทุกแรงกดดันทางการเมือง โดยเฉพาะการบีบ  ฝ่ายรัฐบาล ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตกเป็นรอง 

 อย่างไรก็ดีเมื่อปฏิทินการเมืองกางออกมาสู่สาธารณะ ในทางตรงกันข้าม อาจกลายเป็น ตัวเร่ง ให้ พรรคร่วมรัฐบาล หันมาเปิดศึก กันเอง ชนิดที่ไม่ต้องเกรงใจกันอีกต่อไป เหมือนกับที่ เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลอันดับที่ 2 รองจากพรรคพลังประชารัฐ 

 บรรยากาศการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล กลายเป็นความระอุ  ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยเปิดวิวาทะกับ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลอันดับที่ 3 ชนิดไม่เว้นแต่ละวัน   จากการถกเถียง เห็นต่างกันในเรื่องร่างกฎหมายกัญชา กัญชง และร่างกฎหมายเงินกู้กยศ. ถูกขยายความพาดพิงกันไปถึงเรื่อง การหาเสียง การซื้อเสียงในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัดที่ตอนนี้กลายเป็น เป้าหมาย ที่หลายพรรค ต่างมุ่งหน้าลงไปปักธงกันพรรคในการเลือกตั้งรอบหน้าเป็นทิวแถว 
 แม้ล่าสุดจะมีความพยายามจาก บิ๊กเนม ของทั้งสองพรรค ไปจนถึง บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในห้วงหลายวันที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่า บรรยากาศ ภายในรัฐบาลยังคง คุกรุ่น โดยเฉพาะบรรดา ลูกพรรค ต่างไม่มีใครยอมลดราวาศอก 

 ทั้งนี้เมื่อสนามเลือกตั้งในสมัยหน้า ถูกปักหมุดเอาไว้ในวันที่ 7 พ.ค.2566  จะสามารถ แตะเบรก ทุกความวุ่นวาย ทางการเมืองได้หรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องประเมินจากหลายเงื่อนไข หลากปัจจัย โดยเฉพาะ ยิ่งเมื่อ นาทีนี้ ทั้งพรรคฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทย และ ภูมิใจไทย  ต่างมีความหวัง และมองเห็นโอกาสที่จะได้ผลักดัน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเอง บนข้อสมมติฐานว่า บิ๊กตู่ อาจจะไม่ได้ ไปต่อ  !