รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) เป็นความสามารถของมนุษย์ในการแยกแยะและกำหนดอารมณ์ และการตอบสนองต่ออารมณ์ในลักษณะที่สังคมให้การยอมรับ มีความยืดหยุ่น และสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งต่อปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของบุคคลนั้น
จริง ๆ แล้วการควบคุมอารมณ์ครอบคลุมทั้งอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบ แต่ทั่วไปแล้วจะเน้นที่ ความพยายามของบุคคลในการจัดการกับการแสดงออกหรือการกระทำที่มาจากอารมณ์และแรงกระตุ้นที่เป็นตัวก่อกวนที่ส่งผลด้านลบมากกว่า
คนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองแล้วกระทำหรือแสดงพฤติกรรมเชิงก่อกวนหรือไม่เหมาะสมจะสัมพันธ์กับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการควบคุมอารมณ์ของบุคคล ได้แก่ จุดเริ่มต้นของ การกระทำ การยับยั้งการกระทำ และการปรับการตอบสนอง
ตัวอย่างอารมณ์ที่คนควบคุมไม่ได้เชิงลบ เช่น ความโกรธ ความเสียใจ ความวิตกกังวล และความกลัว !!
ทั่วไปแล้วการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ของคนเราจะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดยอาจมีสาเหตุจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ความเหนื่อยล้า และการอดนอน อย่างไรก็ดีคนที่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่รู้ตัว สิ่งที่สำคัญคือคนรอบตัวต้องคอยสังเกตและหากจำเป็นก็ต้องขอความช่วยเหลือ เพราะการควบคุมอารมณ์เชิงลบไม่ได้มีผลกระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่หรืออาจสร้างความรู้สึกเดือดร้อนรำคาญต่อผู้คนอีกด้วย
ในกลุ่มเด็ก ๆ บางทีก็เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อรู้สึกถูกขัดใจ หนักใจ ทุกข์ใจ หรือไม่สบายตัว ทำให้แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว กรีดร้อง โวยวาย หรือร้องไห้ แต่เมื่อเด็กโตขึ้นตามวัยก็จะเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองได้ดีมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญในการปรับหรือฝึกฝนการแสดงออก/การกระทำของเด็ก
โรคหรืออาการเจ็บป่วยบางอย่างที่เป็นแล้วจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเด็ก เช่น ความผิดปกติในการปรับตัว (Adjustment Disorder) โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder -
ADHD) ออทิสติก เป็นต้น
ส่วนโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่มีผลต่อการควบคุมอารมณ์ของคนทั่วไป เช่น ความผิดปกติจากการใช้แอลกอฮอล์/สารเสพติด ความผิดปกติเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่ต่อต้านสังคม ไบโพลาร์ เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า ความเครียดหลังป่วยหนักหรือป่วยนาน โรคจิต จิตเภท ฯลฯ
แนวทางการควบคุมอารมณ์ของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม เช่น มีสติสัมปชัญญะ ฝึกการมีสติ ปรับวิธีคิด มีความยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง มองโลกเชิงบวก รักและเมตตาตัวเอง เปิดรับการสนับสนุนทางอารมณ์ที่เหมาะสม เป็นต้น
หากบุคคลสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เช่น สามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่สร้างปัญหาหรือสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้และหาทางออกที่สมเหตุสมผล ช่วยแยกแยะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้นและเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์เหล่านั้น เป็นผู้ควบคุมความรู้สึกและอารมณ์แทนการถูกควบคุม สามารถตอบสนองอย่างเหมาะสมและปลอดภัยในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย เสริมสร้างความนับถือให้กับตนเอง สร้างความรู้สึกที่เป็นอิสระและปลอดภัย ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการทำงาน
ดังนั้น การควบคุมอารมณ์จึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะ “ผู้นำ” ทุกระดับ ทุกองค์กร ทุกวงการจะต้องตระหนักในการควบคุมอารมณ์
เมื่อใดก็ตามถ้า “ผู้นำ” ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่สามารถกลืนเลือดได้...ยอมให้ “อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” ทุกอย่างจะพินาศ โดยเฉพาะ “ผู้นำทางการเมือง”