สถาพร ศรีสัจจัง
ได้อ่านบทความเรื่อง “สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกลืม” โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ นักคิดนักเขียนร่วมสมัยคนสำคัญ จากคอลัมน์ “ปรับฐานราก เปลี่ยนฐานคิด” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวัน ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2565 แล้ว อดไม่ได้ที่อยากจะนำมาขยายต่อ นอกจากในฐานะเป็นแฟนคลับของอาจารย์มาอย่างยาวนานแล้ว บังเอิญในช่วงดังกล่าวนี้ ได้รับบทกวีชิ้นหนึ่งจากกวี “Anonymous” ซึ่งมักจะส่งอะไรมาให้อ่านอยู่บ่อยๆ บทกวีดังกล่าว เขาตั้งชื่อว่า “ดิบ-เถื่อน ดิจิทัล-ตะวันตก” ซึ่งเสนอทรรศนะรูปธรรม ที่ค่อนข้างจะสอดรับกับทรรศนะ ของดร.เสรี ในบทความชิ้นที่เพิ่งเอ่ยถึงมา
เรื่องของบทกวี “ดิบ-เถื่อน ดิจิทัล-ตะวันตก” ค่อยว่ากันตอนหลัง ตอนนี้ขอ “ฉวยโอกาส” ยกเอาข้อเขียนช่วงท้ายๆบทความของ ดร.เสรี มา “ฉายซ้ำ” สัก 3-4 ย่อหน้า ทั้งเพื่อให้คนที่ยังไม่ได้อ่านได้เห็น ส่วนคนที่อ่านมาแล้ว ถือว่าเป็นการทบทวนความทรงจำในเรื่อง “แง่คิด” เกี่ยวกับเรื่องนี้ของอาจารย์อีกครั้งก็แล้วกัน
ข้อความที่ขอยกมา “ฉายซ้ำ” มีดังนี้ :
“อาณานิคมยุคใหม่เริ่มเมื่อ 500 กว่าปีก่อน ฝรั่งไปล่าหาทองคำ เงิน แร่ธาตุ เพชรนิลจินดา เครื่องเทศ ผ้าไหม สมุนไพร ไม้มีค่า ไปจนถึงแรงงาน กวาดต้อนคนมาเป็นทาสเยี่ยงสัตว์ ฆ่าคนพื้นเมืองในอเมริกา-เหนือ ใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย ทั่วโลก มาถึงลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ ที่ต้องการน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จนถึงอำนาจทางธุรกิจการค้าบรรษัทข้ามชาติในโลกที่ไร้พรมแดน
การเข้าไปรุกรานประเทศต่างๆ ของบรรดามหาอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มีคำอธิบายอื่นนอกจากผลประโยชน์ ทรัพยากร แม้ทุกครั้งจะอ้างสารพัดเหตุผล ก็ไม่ต่างจากหมาป่ากับลูกแกะ ไม่ว่าจะเป็นที่อัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย ซีเรีย จอร์เจีย ยูเครน ประเทศในละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชีย
ทุกอย่างเกิดต่อเนื่องเหมือนไม่ได้สรุปบทเรียน ที่อาณาจักรยิ่งใหญ่ทั้งหลายในอดีตล้วนล่มสลายไปหมดแล้ว และที่แย่งกันเป็นเจ้าโลกปัจจุบันก็คงไม่อยู่ชั่วฟ้าดินสลาย หรือเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่เคยรับรู้ความทุกข์ทรมานและหายนะของสงคราม ประเทศแพ้สงครามอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่นก็ฟื้นฟูและพัฒนา จนไม่เห็นร่องรอยของความเสียหายจากสงครามแม้แต่น้อย
คนรุ่นลูกหลานฟังเรื่องสงครามโลกเหมือนดูหนังฟังนิยาย ไม่ได้รู้สึกสำนึกอะไร ความขัดแย้งที่ยุโรปหรือทะเลจีนใต้ หลายคนก็เฉยๆ ทั้งๆ ที่ปัญหาทางการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจสังคมทั่วโลก
แน่ใจหรือว่า ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ โลกจะกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมดังหลังสงครามโลกสองครั้ง เหมือนนกฟีนิกซ์ที่ฟื้นคืนชีพจากที่ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน"
คำสำคัญที่ ดร.เสรี นำเสนอในบทความช่วงที่ยกมา มีอย่างน้อย 2 คำ คือคำ “มหาอำนาจ” กับคำ “การเข้าไปรุกรานประเทศต่างๆเพื่อผลประโยชน์(ตัวเอง)”
และเพื่อ “การรุกราน” ที่บรรบุลุผล ฐานคิดเบื้องต้นของพวกเขาจึงคือ “ต้องมีอำนาจเหนือ”
และการที่จะมีอำนาจเหนือกว่าได้ สิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่จะต้องมีก็คือ “ยุทธปัจจัย” หรือ “พลังที่เกิดจากกองทัพ” ที่เหนือกว่านั่นเอง
โลกทัศน์ในกะโหลกของพวกเขา (อย่างน้อยก็คือของบรรดาชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐ) จึงหมักหมมเต็มไปด้วยจุดมุ่งในการสร้าง “ยุทธปัจจัย” ที่เหนือกว่าทันสมัยกว่าอยู่ตลอดเวลา
ยุทธปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการ “รุกราน” หรือ “ก่อสงคราม” ก็คือ กำลังพล และ คุณภาพของกำลังพลกับอาวุธยุทโธปกรณ์ในทำ “สงคราม”!
ฐานคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับ จักรวาล โลก และมนุษย์ ของชาติตะวันตกทั้งสิ้นทั้งปวงนั้น ล้วน ตั้งอยู่บนฐานคิดทางปรัชญาแบบ “กรีก-โรมัน”
“ศาสตร์” ที่เป็นพื้นฐานของกรีกก็คือ “ฟิสิกส์” ซึ่งก็คือเรื่องที่ว่าด้วยวัตถุและพลังงานเป็นหลัก ท้ายที่สุดกรอบแนวคิดในการอธิบายเรื่อง “การดำรงอยู่ของระบบคุณค่า” ในฐานะมนุษย์ของพวกเขาก็คือ ความสามารถเข้าใจ ควบคุม และการอยู่เหนือธรรมชาติ!
ฐานคิดเบื้องต้นเกือบทั้งหมดจึงมักโน้มเอียงไปในทาง “เมคานิกส์” แทบทั้งสิ้น!
ใครที่สนใจอยาก “ลงลึก” ในเรื่องนี้ก็ลองไปศึกษา “ปรัชญากรีก” กันเอาเอง โดยเฉพาะนักปรัชญากรีกคนที่ชื่อ “เอปิคิวรัส”!
แล้วก็จะรู้ว่า “ความก้าวหน้า” ของสิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์” ของโลกตะวันตก ที่หลังสงครามโลกครั้ง 2 จนถึงปัจจุบันมี “สหรัฐอเมริกา” เข้าสวมฐานะเป็น “พี่เอื้อยใหญ่” แทนบรรดาประเทศจักรวรรดินิยมแบบเก่าทั้งหมด นั้น ถูกนำมารับใช้เพื่อการผลิตยุทธปัจจัยเพื่อ “การมีอำนาจเหนือ” ในลักษณะการเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว” ในการ “ครองโลก” อย่างไร
กลอนเรื่อง “ดิบ-เถื่อน ดิจิทัล-ตะวันตก”! ที่เพิ่งได้รับมา และจะนำมาให้อ่านกัน เขียนถึงเรื่องนี้แบบ “ไทยๆ” เรียกได้ว่าแบบถึง “กึ๋น” ทีเดียว !!!